วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

พิธีเปิดสายการผลิต บ.ทอ.๖ ระยะที่ ๑

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีเปิดสายการผลิต บ.ทอ.๖ ระยะที่ ๑ โดยมี พลอากาศโท บุญสืบ ประสิทธิ์ เจ้ากรมช่างอากาศ ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ กรมช่างอากาศ บางซื่อ



กรมช่างอากาศ มีขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และสร้างเครื่องบินเพื่อใช้งาน โดยเฉพาะเครื่องบินฝึก/ธุรการ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนมีผลงานวิจัยที่สามารถพัฒนาเข้าสู่สายการผลิตได้ คือ บ.ทอ.๖




ยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ ปี ๒๕๕๑ – ๒๕๖๒ (ฉบับปรับปรุงปี ๒๕๕๒) ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ ๔ การรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ ได้กำหนดกลยุทธ์ให้มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเชิงวิจัยและพัฒนากิจการการบินและอุตสาหกรรมการบิน และกิจการเกี่ยวข้องเนื่องในด้านการบินของประเทศ
นโยบายผู้บัญชาการทหารอากาศ ปี ๒๕๕๖ นโยบายเร่งด่วน ข้อ ๙ นำผลการวิจัยและพัฒนา บ.ทอ.๖ เข้าสู่สายการผลิต เพื่อใช้เป็นเครื่องบินฝึก/ธุรการ และพิจารณาการติดตั้งกล้องพร้อมระบบ Video Down Link (VDL) ที่ได้จากการวิจัย เพื่อให้สามารถใช้เป็นเครื่องบินลาดตระเวนทางอากาศ ของกองทัพอากาศ และต่างเหล่าทัพในอนาคตโดยจัดให้มีแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

โครงการผลิต บ.ทอ.๖ จำนวน ๒๕ เครื่อง โดยในระยะที่ ๑ ปี ๒๕๕๗ – ๒๕๕๙ จะดำเนินการผลิต จำนวน ๓ เครื่อง




เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๔ กรมช่างอากาศ ทำการทดสอบเครื่องยนต์ที่ได้รับการติดตั้งกับเครื่องบินแบบ บ.ทอ.๖ ซึ่งพัฒนามาจากพื้นฐานของเครื่องบินฝึกแบบที่ ๑๕ SF-260 MT ซึ่งใช้เครื่องยนต์ลูกสูบ และ บ.ชอ.๒ นับว่าเป็นผลสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจ โครงการ บ.ทอ.๖ ออกแบบพัฒนามาพร้อมกับ โครงการ บ.ชอ. ๒ มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙

โครงการ บ.ทอ.๖ เป็นโครงการที่สอง ของกรมช่างอากาศ ที่ดำเนินการพัฒนาสร้างอากาศยานต้นแบบเรียกว่า “โครงการเครื่องบินกองทัพอากาศแบบที่ ๖ หรือ บ.ทอ.๖” โดยเลือกใช้เครื่องยนต์ Turbo Prop และใช้พื้นฐานประสบการณ์และความรู้จากการสร้างเครื่องบิน บ.ชอ.๒ ซึ่งเป็นโครงการที่หนึ่งดังที่กล่าวข้างต้น มาดำเนินการ สำหรับโครงการ บ.ทอ.๖ นี้ ได้รับการบรรจุเป็นงานวิจัยและพัฒนาทางทหาร ของสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม พร้อมทั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน ๓๖.๗ ล้านบาท
บ.ทอ.๖ ได้รับการติดตั้งเครื่องยนต์ Turbo Prop Allison 250 ให้แรงขับ ๔๒๐ แรงม้า ติดตั้งใบพัด ๓ กลีบ โดยพัฒนาออกแบบในส่วน Engine Mount และ Cowling ใหม่ทั้งหมด เพิ่ม Aerobatic Tank สำหรับการบินผาดแผลง มาตรฐานความปลอดภัย FAR 23 compliance ในทุกระบบ แผงหน้าปัดได้รับการออกแบบใหม่ให้ทันสมัย ในขณะที่ บ.ชอ.๒ ยังคงพื้นฐานของเครื่องบินฝึกแบบที่ ๑๕ SF-260 โดยใช้เครื่องยนต์ลูกสูบนอนขนาด ๒๕๐ แรงม้า 
โดยเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ ได้ทำการบิน First flight โดยไม่เก็บฐาน เป็นครั้งแรก โดยมี นาวาอากาศตรี ภาสกร ไชยกำเนิด เป็นนักบินลองเครื่อง เรืออากาศโท อนันต์ วงศ์ชาลี เป็น Flight Engineer นำเครื่องบิน บ.ทอ.๖ ขึ้นบินเพื่อทดสอบสมรรถนะ ระยะสูง ๕,๐๐๐ ฟุต ที่ความเร็วประมาณ ๑๐๐ กม./ชม. โดยมี เรืออากาศเอก สานิตย์ ประวิตรวงศ์ นักบินลองเครื่อง และ พลอากาศตรี พลานันท์ ปะจายะกฤตย์ Flight Engineer ทำการบินกับเครื่องบินกรมช่างอากาศแบบที่ ๒ (บ.ชอ.๒) เป็นเครื่อง Chaser ถือเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การสร้างอากาศยานสมัยใหม่ของประเทศไทย

สำหรับในอดีตนั้น กองทัพอากาศ เคยมีประสบการสร้างเครื่องบินแบบต่างๆ อาทิ นิเออปอร์ต, เบรเกต์ ๓/๑๔, สปัด ๗/๑๓, แอฟโร ๕๐๔ เอ็น, คอร์แซร์ วี ๙๓ เอส และ ฮอว์ค ๓ รวมกันกว่า ๒๐๐ เครื่อง และยังมีประสบการณ์ในการออกแบบอากาศยานแบบต่างๆ ขึ้นใช้ในราชการ อาทิ เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บริพัตร (บ.ท.๒), เครื่องบินขับไล่แบบประชาธิปก (บ.ข.๕), เครื่องบินฝึกและสื่อสารแบบ บ.ทอ.๑ – บ.ทอ.๕ โดยเฉพาะเครื่องบินแบบ บ.ทอ.๔ ได้มีการเปิดสายการผลิตเป็นเครื่องบินฝึกเมื่อปี ๒๕๑๗ จำนวน ๑๒ เครื่อง กำหนดสัญลักษณ์เป็น บ.ฝ.๑๗ มีชื่อว่า “จันทรา” โดยใช้เป็นเครื่องบินฝึกหน่วยฝึกการบินพลเรือนกองทัพอากาศ

โดย รัชต์ รัตนวิจารณ์
https://www.facebook.com/rtaf6

จะเห็นจากภาพโรงงานของกรมช่างอากาศว่านอกจากเครื่อง บ.ทอ.๖ เครื่องต้นแบบหนึ่งเครื่องที่ทำการบินทดสอบไปแล้วก่อนหน้านี้ตั้งแสดงในส่วนนอกอาคารโรงงานนั้น
มีภาพชิ้นส่วนเครื่องบินที่น่าจะเป็นโครงของ บ.ทอ.๖ เครื่องในสายการผลิต Pre-Production Prototype ส่วนตัวเครื่องด้านหัวเครื่องที่จะเป็นส่วนติดตั้งใบพัดและเครื่องยนต์ ๑เครื่อง และด้านหลังไกลๆมีชิ้นส่วนที่อาจจะเป็นโครงเครื่องทางสีรองพื้นสีเหลืองไว้แล้ว
รวมถึงเครื่องจักรที่กำลังน่าจะทำการเดินเครื่องตัดแผ่นเหล็กอยู่อีก
ตรงนี้ส่วนตัววิเคราะห์ว่าตอนนี้ทางกรมช่างอากาศน่าจะมีโครงชิ้นส่วนตัวเครื่องที่รอการประกอบชิ้นส่วนอย่างน้อย ๒เครื่องขึ้นไป ตามโครงการระยะที่๑ ที่จะประกอบเครื่อง  Pre-Production Prototype ๓เครื่อง
บ.ทอ.๖ ที่จะสร้างขึ้นมาตามแผนโครงการระยะที่๑ ก็น่าจะทำการสร้างพร้อมกันที่เดียวทั้ง ๓เครื่อง ซึ่งอาจจะเสร็จทำการทดสอบต่างๆได้ในระยะเวลาที่กำหนดพร้อมๆกันครับ