วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีในอนาคตของกองทัพอากาศไทย

credit ภาพ รัตน์ รัตนวิจารณ์

นับตั้งแต่เข้าประจำการมาในปี ๒๕๒๓ จนถึงปัจจุบัน บ.ล.๘ C-130H และ C-130H-30 ฝูงบิน๖๐๑ เป็นม้างานกำลังหลักของกองทัพอากาศไทยในภารกิจลำเลียงทางยุทธวิธี
ซึ่งตลอด ๓๕ปีที่จะถึงในปี ๒๕๕๘นี้นั้น C-130 ของกองทัพอากาศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงมาตลอดหลายด้าน
เช่นการเปลี่ยนสีตัวเครื่องจากลายพรางสามสีเวียดนาม(South East Asia (SEA) Scheme) และสีขาวมาเป็นสีเทาฟ้าในปัจจุบัน
จนถึงการปรับปรุงระบบอากาศยาน เช่น การติดตั้งจอภาพสีสี่จอในห้องนักบินแทนเครื่องวัดระบบ Analog แบบเก่า




แต่อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปอายุการใช้งานเฉลี่ยของอากาศยานหลักของกองทัพอากาศไทยในช่วงปัจจุบันนั้นมีหลายแบบมากที่ปลดประจำการไปเมื่อเข้าประจำการได้ ๔๐-๕๐ปี
(เครื่องบินลำเลียงที่มีระยะเวลาประจำการนานที่สุดของกองทัพอากาศไทยคือ บ.ล.๒ C-47 Dakota ซึ่งประจำการตั้งแต่ปี ๒๔๙๐-๒๕๓๘ นานถึง ๔๘ปี
ไม่รวม บ.ล.๒ก BT-67 ที่นำ C-47 กลับมาดัดแปลงใช้ใหม่ซึ่งยังประจำการที่ฝูง๔๖๑)
ซึ่งสำหรับ บ.ล.๘ C-130H ทั้ง ๑๒เครื่องของกองทัพอากาศไทยนั้นตลอดระยะเวลาที่เข้าประจำการมานี้จัดว่าถูกใช้งานอย่างหนักมาก ทั้งงานลำเลียงทางยุทธวิธี งานสนับสนุนทางธุรการและอื่นๆ
เพราะฉะนั้นในอนาคตอันใกล้คืออีกราว ๕-๑๐ปีข้างหน้านั้นกองทัพอากาศไทยก็คงมีความจำเป็นต้องพิจารณาโครงการเครื่องบินลำเลียงแบบใหม่ทดแทน บ.ล.๘ C-130H ครับ

credit ภาพ รัตน์ รัตนวิจารณ์

เดิมทีนั้นหลังการปลดประจำการของ บ.ล.๔ก C-123K ที่เคยประจำการในฝูงบิน๖๐๒ ราวปี ๒๕๓๔
กองทัพอากาศไทยได้จัดหา บ.ล.๑๔ G222 จำนวน ๖เครื่อง มาเป็นเครื่องบินลำเลียงขนาดกลางสองเครื่องยนต์ทดแทน
โดยใช้งานควบคู่ไปกับ บ.ล.๘ C-130H ซึ่งมีสี่เครื่องยนต์ใช้ในภารกิจลำเลียงพิสัยไกลและมีน้ำหนักบรรทุกมากกว่า G222 ที่จะใช้ในภารกิจลำเลียงที่พิสัยสั้นและน้ำหนักบรรทุกน้อยกว่า
แต่เนื่องจากบริษัท Aeritalia(Alenia) อิตาลีเกิดภาวะขาดทุนและพนักงานประท้วงจนล้มละลายในช่วงหลังจากที่กองทัพอากาศไทยจัดหาเครื่อง G222 ได้ไม่นาน
ทำให้ G222 เกิดการขาดแคลนอะไหล่ในการซ่อมบำรุงปรนนิบัติเครื่องจนต้องปลดประจำการเร็วกว่าที่ควรมาก
นั่นทำให้ในปัจจุบันภารกิจในด้านการลำเลียงทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศไทยจึงตกอยู่กับ บ.ล.๘ เพียงแบบเดียวทำให้ C-130H รับภาระสูงมากๆ

จากที่กล่าวไปในข้างต้นจะเห็นได้ว่าสำหรับเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศนั้นถ้ายังยึดหลักนิยมเช่นเดิมก็ควรจะมี บ.ลำเลียใช้งานสองแบบ
คือ บ.ลำเลียงขนาดกลางสองเครื่องยนต์ และ บ.ลำเลียงขนาดหนักสี่เครื่องยนต์
แต่เอาเข้าจริงสำหรับสมรรถนะของ C-130H ในปัจจุบันนั้นก็ไม่ได้จัดว่าเป็น บ.ลำเลียงขนาดหนักแล้วในด้านน้ำหนักบรรทุกสูงสุดและพิสัยการบิน
ซึ่งก็มีข้อมูลว่าในการส่งกำลังไปฝึกร่วมที่ต่างประเทศไกลๆนั้น เจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศไทยมีความต้องการเครื่องที่บรรทุกได้มากกว่าและพิสัยบินไกลกว่า C-130H มาตลอด
เพราะไม่ค่อยสะดวกในการลำเลียงสัมภาระจำนวนมากโดยต้องแวะที่สนามบินมิตรประเทศเพื่อไปที่หมายหลายต่อนัก

ถ้ายึดตามคุณสมบัติโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีขนาดกลางตามแผนพัฒนากองทัพของกระทรวงกลาโหมเก่าจะมีรายละเอียดังนี้คือ

บันทึก 14 โครงการจัดหา บ.ลำเลียง ทดแทน (ระยะที่ 1)
จัดหา บ.ลำเลียง (จำนวนผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 40 คน น้ำหนักบรรทุกไม่ต่ำกว่า 4,000 กก.
ความเร็วเดินทางไม่ต่ำกว่า 240 นอต และพิสัยบินไม่ต่ำกว่า 1,000 ไมล์ทะเล )
จำนวน 6 เครื่อง พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และเอกสารเทคนิค

ถ้าโครงการนี้เป็นโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธี ก็น่าจะเป็นเครื่องที่จะมาแทน บ.ล.๑๔ G222 ที่ปลดประจำการไป
โดยในปัจจุบันนี้มีเครื่องบินลำเลียงขนาดกลางหลายแบบที่สามารถนำมาพิจารณาคุณสมบัติได้ เช่น


C-27J Spartan ของ Alenia ซึ่งพัฒนาต่อมาจาก G222 โดยใช้ Technology ระบบร่วมกับ C-130J ของ Lockheed Martin เช่น ย.Rolls-Royce AE2100-D2A และระบบ Avionic
โดย C-27J สามารถส่งออกได้ในหลายประเทศเช่น กองทัพอากาศอิตาลี สหรัฐฯ ออสเตรเลีย บัลแกเรีย กรีซ ลิทัวเนีย โรมาเนีย สโลวัค โมร็อกโค ชาด เม็กซิโก และ เปรู


ส่วนเครื่องอีกแบบซึ่งเป็นที่พูดถึงบ่อยในช่วงหลังมานี้ว่ามีโอกาสสูงคือ C295 ของ Airbus (เดิม EADS CASA) ซึ่งสามารถส่งออกได้จำนวนมากในหลายประเทศหลายรุ่น
เช่น กองทัพอากาศสเปน โปรตุเกส เชค ฟินแลนด์ โปแลนด์ จอร์แดน โอมาน คาซัคสถาน แอลจีเรีย อียิปต์ กานา บราซิล ชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
รวมถึงข่าวการเข้าแข่งขันในโครงการจัดหาเครื่องทดแทน Avro ของกองทัพอากาศอินเดียที่เคยรายงานไปด้วย

ซึ่งรุ่นลำเลียงทางยุทธวิธี C295M นั้นถ้าเทียบกับ C-27J แล้วเครื่องทั้งสองแบบจะมีสมรรถนะแตกต่างในแต่ละด้านกันเล็กน้อย
แต่โดยรวมเกินขีดความสามารถขั้นต่ำที่จะนำมาทดแทน G222 ได้ทั้งสองแบบ


ในส่วนของเครื่องบินลำเลียงหนักที่จะมาทดแทน C-130H ในอีกราว ๑๐ปีข้างหน้านั้น ส่วนตัวไม่ค่อยแน่ใจว่าสายการผลิตของ C-130J จะยังมีอยู่อีกหรือไม่
แต่ในตลาดเองก็มีเครื่องบินลำเลียงหลายแบบที่มีสมรรถนะสูงกว่าหรือใกล้เคียงที่จะมาทดแทน C-130H ได้




Airbus A400M Atlas เป็นเครื่องบินลำเลียงเครื่องยนต์ใบพัดที่มีขนาดหนักกว่า C-130 แต่เล็กกว่าเครื่องบินลำเลียงทางยุทธศาสตร์เครื่องยนต์ไอพ่นเช่น C-17
โดยเป็นเครื่องบินลำเลียงเครื่องยนต์ใบพัดที่กำลังเป็นที่สนใจมากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่ง A400M เคยมาเยือนไทยแล้วในปี ๒๕๕๕
ซึ่งปัจจุบันหลังจากมีความล่าช้าในการพัฒนาระยะหนึ่ง A400M กำลังเริ่มทยอยเข้าประจำการในกลุ่มประเทศยุโรปและ NATO ที่ร่วมโครงการจัดหาแต่แรก
ทั้ง กองทัพอากาศอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม สเปน ลักเซมเบิร์ก ตุรกี รวมถึงกองทัพอากาศมาเลเซียที่เป็นประเทศเดียวนอกกลุ่มยุโรปที่สั่งจัดหาโดยจะเข้าประจำการในราว 2015
แต่อย่างไรก็ตาม A400M นั้นมีราคาแพงมากคือราว 152.4 million Euros ต่อเครื่อง
ซึ่งกองทัพอากาศเยอรมนีเองก็ลดจำนวนเครื่องที่สั่งจัดหาเดิมจาก ๖๐เครื่องเป็น ๕๓เครื่อง และปัจจุบันเพียง ๔๐เครื่อง เช่นเดียวกับกองทัพอากาศสเปนที่ลดจำนวนเครื่องที่จัดหาลงจาก ๒๗เครื่องเป็นเพียง ๑๔เครื่อง
เยอรมนีมีแผนจะขายต่อ A400M ส่วนเกิน ๑๓เครื่องให้กับมิตรประเทศที่สนใจ เช่นเดียวกับสเปนที่จะขายเครื่องส่วนเกินของตน ๑๓เครื่องเช่นกัน ซึ่งราคาน่าจะถูกกว่าเครื่องประกอบใหม่จากโรงงานและอายุการใช้งานน้อยมาก(น่าจะใกล้เคียงกับ 0)
แต่ทั้งนี้ก็ไม่แน่ใจว่าเครื่องส่วนเกินของทั้งวสองประเทศนั้นยังถือเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลทั้งสองประเทศอยู่หรือไม่ เพราะถ้าเช่นนั้นการจัดซื้อเครื่องส่วนเกินก็ต้องทำกับเยอรมนีหรือสเปนไม่ใช่ Airbus ฝ่ายเดียวตรงๆ
ก็ตามที่ทราบว่าสถานการณ์ของไทยในปัจจุบันยากค่อนข้างยากที่เยอรมนีจะขายยุทโธปกรณ์ให้ไทย ส่วนสเปนนั้นก็พอมีความเป็นไปได้มากกว่าบ้างแต่ก็อาจขึ้นกับนโยบายของสหภาพยุโรปที่สเปนเป็นสมาชิกเช่นเดียวกับเยอรมนี
แต่ถ้ากองทัพอากาศไทยสามารถจัดหา A400M ได้ประมาณ ๖เครื่องขึ้นไปก็น่าจะเป็นประโยชน์มาก ยิ่งถ้าทดแทน C-130H ถึง ๑๒เครื่องได้ก็ยิ่งดี


เครื่องบินลำเลียงอีกแบบซึ่งเพิ่งมีการเปิดตัวไปล่าสุดเดือนตุลาคม 2014 นี้คือ Embraer KC-390 จากบราซิล ซึ่งเป็นเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธีขนาดกลางสองเครื่องยนต์ไอพ่นที่มีสมรรถนะสูงกว่า C-130J บ้างระดับหนึ่ง
โดยนอกจากกองทัพอากาศบราซิลที่จะจัดหา ๒๘เครื่องแล้วยังมีหลายประเทศให้ความสนใจที่จะจัดหา KC-390 ไปใช้เช่น โปรตุเกส ๖เครื่อง เชค ๒เครื่อง ชิลี ๖เครื่อง อาร์เจนตินา ๖เครื่อง และโคลัมเบีย ๑๒เครื่อง
รวมยอดสั่งจัดหาปัจจุบัน ๖๐เครื่อง โดย KC-390 มีราคาราวเครื่องละ $50 million ซึ่งถูกกว่า C-130J ที่ราคาเครื่องละ $100-120 million สำหรับเครื่องที่ส่งออกต่างประเทศ(USAF Flyaway Cost FY2014 $67.3 million)
แต่อย่างไรก็ตาม KC-390 นั้นเพิ่งจะมีต้นแบบเพียงหนึ่งเครื่องและการทดสอบบินครั้งแรกจะมีในเร็วๆนี้ ฉะนั้นอาจจะต้องดูในระยะยาวว่า Embraer จะประสบความสำเร็จมาแค่ไหนกับเครื่องรุ่นนี้
ซึ่งสำหรับกองทัพอากาศไทยเองสมรถนะของ KC-390 ราว ๖-๑๒เครื่อง ก็น่าสนใจที่จะมาแทน C-130H อยู่
เพราะถึงแม้ KC-390 จะใช้ ย.ไอพ่นสองเครื่อง ถึงพิสัยการบินจะสั้นกว่าแต่ถ้าเทียบกับ ย.ใบพัดรุ่นเก่าสี่เครื่องแล้ว ก็ค่อนข้างจะประหยัดเชื้อเพลิงกว่าครับ

ในช่วง ๕-๑๐ปีนี้กองทัพอากาศไทยยังมีโครงการจัดหาอากาศยานใหม่ที่จำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องอยู่อีกหลายโครงการ
เช่นโครงการจัดหา ฮ.กู้ภัยทางอากาศ EC725 ซึ่ง ๔เครื่องแรกจะส่งมอบในปี ๒๕๕๘ และอีก ๒เครื่องที่เพิ่งลงนามไปในปี ๒๕๖๐ โดยมีความต้องการรวม ๑๖เครื่องเพื่อทดแทน ฮ.๖ UH-1H ในฝูง๒๐๓
รวมถึงโครงการจัดหาเครื่องบินฝึกไอพ่นทดแทน บ.ขฝ.๑ L-39ZA/ART ที่ยังไม่มีการประกาศเลือกแบบในขณะนี้
ส่วนข่าวที่ Elbit อิสราเอลรับสัญญาปรับปรุง F-5E วงเงิน $85 million กับประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิคนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นของกองทัพอากาศไทยหรือไม่
ความเป็นไปได้ในการจัดหา บ.ข.๒๐ Gripen C เพิ่มระยะที่๓ อีกราว ๔-๖เครื่องประจำการในฝูง๗๐๑ เพิ่มเติมจาก ๑๒เครื่องที่มีอยู่
และกองทัพอากาศก็อาจจะต้องพิจารณาเครื่องบินขับไล่แบบใหม่แทน บ.ข.๑๙ F-16A/B ADF ฝูง๑๐๒ ที่ใกล้จะหมดอายุการใช้งานอีกราว๑๐ปีข้างหน้าด้วย
ส่วนตัวก็ไม่แน่ใจว่านโยบายของท่านผู้บัญชาการทหารอากาศคนปัจจุบันคือ พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง ซึ่งเติบโตมาในสายนักบินเครื่องบินลำเลียง(ปกติ ผบ.ทอ.จะเป็นสายนักบินเครื่องบินขับไล่/โจมตีมาตลอด)
จะให้ความสำคัญกับโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงใหม่ของกองทัพอากาศไทยหรือไม่มากแค่ไหนครับ