วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

กองทัพเยอรมนีขาดกระสุนที่มีประสิทธิภาพสำหรับรถถังหลัก Leopard 2 และไม่มีอนาคตสำหรับปืนเล็กยาว G36 อีกต่อไป

http://www.n-tv.de/politik/Bericht-Leopard-2-fehlt-wirksame-Munition-article14982951.html

ผลจากวิกฤตการณ์ในยูเครนที่รัสเซียเข้าผนวก Crimea แทรกแซงการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มติดอาวุธนิยมรัสเซียในเขต Donbass และมีการใช้กำลังทางทหารคุกคามยุโรปตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆนั้น
ทำให้เยอรมนีต้องทบทวนนโยบายด้านความมั่นคงของตนใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งคือการปรับปรุงขีดความสามารถด้านกำลังของรถถังหลัก Leopard 2 ในกองทัพบกเยอรมัน
โดยตามแผนการปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมเยอรมนี(BMVg)เดิมนั้น กองทัพบกเยอรมนี(Bundeswehr Heer)จะคงประจำการด้วยรถถังหลัก Leopard 2A6 และ Leopard 2A7 รวมราว 225คันเท่านั้น
ซึ่งรถรุ่นก่อนหน้านี้ที่มีการเก็บสำรองไว้เพื่อลดงบประมาณเช่น Leopard 2A4 และ Leopard 2A5 นั้นได้ขายส่งออกให้มิตรประเทศต่างๆเป็นจำนวนมากแล้ว
ทำให้กองทัพเยอรมันต้องนำ ถ.หลัก Leopard 2 ที่ยังเก็บสำรองไว้อยู่ซึ่งดูแลโดยเอกชนซื้อคืนนำกลับมาคืนสภาพเพื่อใช้ประจำการในกองทัพอีกครั้ง
ตามการแถลงของรัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี นาง Ursula von der Leyen การปรับปรุงรถถังหลัก Leopard 2 ราว 100คัน จะให้ให้กองทัพบกเยอรมนีมีรถถังหลักเพิ่มขึ้นเป็น 328คันในปี 2017

แต่อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์ว่าในการต่อสู้กับรถถังหลักรุ่นใหม่ของรัสเซีย เช่นรถถังหลัก ARMATA T-14 ซึ่งกำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการล่าสุดในการสวนสนามประกาศชัยชนะสงครามโลกครั้งที่2 วันที่ 9พฤษภาคมนี้ที่ Moscow นั้น
กระสุนปืนใหญ่รถถังที่ยิงจากปืนใหญ่รถถังลำกล้องเรียบขนาด 120mm Rheinmetall L/55 ซึ่งเป็นอาวุธหลักของ Leopard 2A6 และ Leopard 2A7 นั้นยังมีประสิทธิภาพด้อยเกินไปที่จะต่อสู้กับเกราะและระบบป้องกันตัวเชิงรุกของรถถังรัสเซียรุ่นใหม่ๆ อย่างกระสุนเจาะเกราะสลัดครอบมีครีบทรงตัว(APFSDS: Armour Piercing Fin Stabilized Discarding Sabot) DM63 ซึ่งสามารถเจาะเกราะเหล็กกล้า RHA ได้ 720mm ในระยะ 2,000m นั้นอาจจะเจาะเกราะรถถังหลัก T-14 ซึ่งยังเป็นความลับอยู่ไม่เข้า
ทำให้กองทัพบกเยอรมนีจะเสียเปรียบหากต้องเผชิญหน้ากับรถถังรัสเซียในสนามรบจริง ดังนั้นกองทัพเยอรมนีจึงมีแผนการพัฒนากระสุนเจาะเกราะแบบใหม่ให้ทันใช้ภายในปี 2017
โดยเคยมีข้อมูลเปิดเผยออกมาในสื่อก่อนหน้านี้ว่าแกนลูกดอกของกระสุน SABOT อาจจะเปลี่ยนจาก Tungsten เป็นกาก Uranium ไร้รังสี(DU:Depleted Uranium) เช่นเดียวกับกระสุน M829 ที่ใช้ในรถถังหลัก Abrams ของกองทัพสหรัฐฯครับ

Germany defence minister sees 'no future for G36'
The future of the German Army's G36 service rifle in its current form has been called into question by recent reports on its performance and comments by Germany's defence minister. Source: Bundeswehr
http://www.janes.com/article/50946/germany-defence-minister-sees-no-future-for-g36

และตามที่เคยรายงานปัญหาข้อบกพร่องของปืนเล็กยาว HK G36 ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายหลักของกองทัพเยอรมนีไปก่อนหน้านี้นั้น
เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมารัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี นาง Ursula von der Leyen ได้ตั้งคำถามถึงอนาคตของปืน HK G36 ในการประชุมพิเศษของรัฐสภาที่ไม่ได้ออกสื่อ
โดยนาง von der Leyen ได้รายงานข้อมูลความเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ใช้งานในกองทัพถึงประสิทธิภาพของปืน HK G36 ว่าสถานะปัจจุบันนั้น HK G36 ไม่อนาคตในกองทัพเยอรมันอีกต่อไปแล้ว

รายงานผลการทดสอบปืนจากสถาบัน Fraunhofer, ศูนย์เทคนิคอาวุธและกระสุนกองทัพเยอรมนี WTD 91 และสถาบันวิจัยอมภัณฑ์ เชื้อเพลิง และสารหล่อลื่น WIWeB
ซึ่งทำการทดสอบปืนเล็กยาว HK G36 ในรุ่น A0, A1, A2, A3 และ A4 พร้อมกับปืนเล็กยาวแบบอื่นที่ไม่ทราบชนิดและจำนวน ด้วยการทดสอบยิงกระสุนขนาด 5.56x45mm มาตรฐานที่ใช้ในกองทัพเยอรมัน
จากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าปืนจะต้องมีความแม่นยำในการยิงเป้าหมายในระยะ 300m ที่ร้อยละ90 นั้น เอกสารที่เปิดเผยได้รายงานว่าปืนเล็กยาว HK G36 ไม่สามารถผ่านการทดสอบได้
โดยปืนมีปัญหาความแม่นยำที่ลดลงขณะทำการยิงกลอย่างต่อเนื่องเนื่องจากความร้อนของลำกล้องปืนที่สูงเกินไป โดยในเวลา 600วินาที ความร้อนของปืนจะพุ่งสูงจาก 15องศาเซลเซียสเป็น 45องศาเซลเซียส
นั่นหมายความว่าความแม่นยำในการยิงของปืนจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ53 เมื่อทำการยิงกระสุนจากซองกระสุนขนาด 30นัด หมดเพียงสองซองเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ทางยุทธวิธี

อย่างไรก็ตามทางบริษัท Heckler & Koch ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและผลิตปืนเล็กยาว HK G36 ได้ออกมาประท้วงผลการายงานของกระทรวงกลาโหมเยอรมนี
โดยโฆษกของ HK ได้กล่าวว่าการทดสอบของรัฐบาลเยอรมนีต่อปืน G36 นั้นไม่เป็นธรรม เนื่องจากปืนแบบอื่นๆที่ใช้เทียบเคียงในการทดสอบมีระบบการทำงานที่แตกต่างจาก G36
และยังกล่าวด้วยว่าการทดสอบนี้เป็นการเล่นงานทางการเมืองของรัฐบาลเยอรมนี อีกทั้งยังจะส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์ของเยอรมนีที่มียอดขายทั่วโลกจำนวนมากด้วย

กระทรวงกลาโหมเยอรมนีได้เปิดโครงการศึกษาเพิ่มเติมของปืนเล็กยาว HK G36 สองโครงการ ซึ่งโครงการแรกจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคมนี้
ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลผลการใช้งานปืนจากเจ้าหน้าที่ของกองทัพที่ปฏิบัติการภาคสนามเช่นที่อัฟกานิสถานเมื่อปีที่ผ่านมา
เพื่อวิเคราะห์ว่าทหารเยอรมันจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นหรือไม่ที่ต้องใช้ปืนเล็กยาว G36 เป็นอาวุธประจำกายเมื่อต้องอยู่ในปฏิบัติการรบจริง ไม่ว่ารายงานที่ได้จะมีผลเป็นลบหรือไม่ก็ตาม
ส่วนโครงการวิเคราะห์อื่นที่ริเริ่มโดยเลขานุการความมั่นคงรัฐ Katrin Suder จะสิ้นสุดภายในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการใช้ประโยชน์จากโครงการทดสอบวิเคราะห์ปืนเล็กยาว G36 ในการปรับโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์ในสร้างกระบวนการตัดสินใจจัดซื้อต่อไปครับ