วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559

ความคืบหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในปี ๒๕๕๙-๓

http://www.nanc.coj.go.th/doc/data/nanc/nanc_1455001566.pdf
http://www.nanc.coj.go.th/view-829.html

ข่าวประชาสัมพันธ์ของศาลจังหวัดน่านลงข่าวว่า วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๙ ได้มีพิธีทำบุญในโอกาสรับมอบรถเกราะล้อยางลำเลียงพล BTR-3E1 จำนวน ๙คัน ณ กองพันทหารม้าที่๑๐ ค่ายสุริยพงษ์ จังหวัดน่าน
กองพันทหารม้าที่๑๐ เป็นกองพันทหารม้าลาดตระเวน ซึ่งเป็นหน่วยขึ้นตรงของ กรมทหารม้าที่๒ กองพลทหารม้าที่๑ ครับ โดยยุทโธปกรณ์ในอัตราจัดเดิมเท่าที่มีข้อมูลคือรถเกราะล้อยาง V-150
อาจจะเป็นข้อมูลแรกที่ออกมาว่าในส่วนเหล่าทหารม้านั้นอาจจะเริ่มมีการจัดหารถเกราะล้อยางแบบใหม่คือ BTR-3E1 มาแทน V-150
นอกจากในส่วนของเหล่าทหารราบคือ กรมทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่๒๑ รักษาพระองค์ ที่กำลังได้รับมอบ BTR-3E1 อยู่
ตรงนี้อาจจะรวมถึง BTR-3 รุ่นอื่นๆที่จะแทนในส่วน V-150 ทั้งรุ่นติดเครื่องยิงลูกระเบิดและรุ่นติดปืนใหญ่รถถัง 90mm สำหรับทหารม้าลาดตระเวนด้วย




https://www.facebook.com/prthainavy/photos/pcb.1135088479875840/1135087633209258/

ทั้งนี้ในการฝึกการดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริงของกรมทหารราบเฉพาะกิจทัพภาคที่๓ (กรม ร.ฉก.ทภ.๓) กองทัพบก ณ พื้นที่ฝึกทางยุทธวิธีทัพภาคที่๓ บ้านลานกระบือ ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๙
ที่ได้มีการจัดกำลังจาก กองพลทหารราบที่๔ และกองพลทหารม้าที่๑ ที่นำรถเกราะล้อยาง BTR-3E1 ตามที่ได้เคยรายงานนั้นน่าจะเป็นการฝึกซ้อมรบจริงครั้งแรกรถเกราะล้อยาง BTR-3E1 ที่ประจำการใน ม.พัน.๑๐ หลังการได้รับมอบรถครับ


ในส่วนโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพบกไทยกับยูเครนอีกโครงการที่ยังดำเนินการอยู่คือโครงการจัดหารถถังหลัก Oplot นั้น
ก็ตามที่ได้รายงานไปก่อนครับว่ามีคณะกรรมการของไทยได้ไปตรวจดูงานที่โรงงาน Malyshev และมีการทดสอบรถถังหลัก Oplot ชุดใหม่ที่ประกอบเสร็จว่าพร้อมรบแล้ว
การส่งมอบทาง Ukrspetsexport หน่วยงานด้านการจัดการส่งออกยุทโธปกรณ์ของยูเครนก็กล่าวว่าการผลิตและส่งมอบรถถังหลัก Oplot ให้กับไทยนั้นจะเป็นไปตามกำหนดการโดยเร็วที่สุด
ก็คงจะหมายความว่าภายในปี ๒๕๕๙(2016) นี้หลังเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปกองทัพบกก็ควรจะได้รับมอบรถถังหลัก Oplot ชุดที่๓ สำหรับกองพันทหารม้าที่๒ กองพลทหารราบที่๒ รักษาพระองค์ อย่างน้อยครบหนึ่งกองร้อยทหารม้ารถถัง ๑๕คันครับ

อีกด้านก็ได้ข่าวลือจากวงในมาครับว่าทางกองทัพบกมีแผนจะปรับกำลังหน่วยบิน เช่น ศูนย์การบินทหารบกใหม่ ซึ่งอาจจะมีการจัดหา ฮ.ท.๑๗ Mi-17V5 เพิ่มอีก ๘เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์โจมตีใหม่อีก ๖เครื่อง แต่ข้อมูลนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าจริงหรือไม่
ส่วนอีกข่าวที่ว่ากองทัพบกอาจจะสนใจรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-82A นั้นส่วนตัวมองว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ไม่มาก เนื่องจากตามข่าวในข้างต้นกองทัพบกก็มีการจัดหารถเกราะล้อยาง BTR-3E1 อย่างต่อเนื่องมาตลอดซึ่งยูเครนก็ยังทำการผลิตรถส่งให้ไทยได้(แม้จะล่าช้า)
อีกทั้ง BTR-82A นั้นยังมีมีมิติขนาดรถที่เล็กกว่า BTR-3 เพราะพัฒนาปรับปรุงมาจากรถเกราะล้อยาง BTR-80 ที่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้ระบบอาวุธที่ติดตั้งได้และกำลังพลที่บรรทุกไปกับรถได้น้อยกว่าซึ่งคงจะไม่เหมาะกับอัตราจัดของกองทัพบกที่ใช้อยู่ถ้าเทียบกับ BTR-3 ครับ

กองทัพเรือรับมอบเรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บการปฏิบัติการตามลำน้ำ








วันนี้ (วันที่ 18 มีนาคม 2559) พลเรือเอก นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการเป็นประธานในพิธีรับเรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำ และพิธีทำบุญรับเรือ ชุดเรือ ล.164 (ล.164 - ล.169) จำนวน 6 ลำ
ณ อาคารราชนาวิกสภา หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โดยมี พลเรืตรี นิกิตติ์ ฑีร์ฆะยศ ผู้บัญชาการกองเรือลำน้ำ พร้อมข้าราชการกองเรือลำน้ำให้การต้อนรับ
ทั้งนี้เรือชุดดังกล่าวต่อโดยบริษัท มาร์ซัน ได้มีการพัฒนาสมรรถนะให้ดีขึ้นกว่าชุดที่แล้ว (ชุด เรือ ล.161) เช่น เสียงเครื่องยนต์เบาลง ความเร็วเพิ่มขึ้น รวมถึงระบบการเดินเรือ ระบบอาวุธ อีกด้วย

กองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ มีภารกิจในการจัดและเตรียม พร้อมทางด้านกำลังรบสำหรับปฏิบัติการตามลำน้ำในอาณาเขต และลำน้ำภายในประเทศ
มีหน้าที่รับผิดชอบดูแล ป้องกัน ขัดขวาง ทำลายการแทรกซึม และการดำเนินการที่กระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ และอธิปไตยของประเทศตามลำน้ำตามอาณาเขต
อีกทั้งเป็นหน่วยฝึกและเตรียมยุทโธปกรณ์ให้กับหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง
ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมาย คุ้มครองและช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติต่าง ๆ ตามหลักมนุษยธรรม ในพื้นที่รับผิดชอบ รักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง
รวมทั้งสนับสนุนกำลังทางบกในการรักษาความมั่นคง และป้องกันประเทศ
ถึงแม้ว่ายุทโธปกรณ์ของกองเรือลำน้ำที่ใช้ปฏิบัติราชการอยู่ในปัจจุบันของกองเรือลำน้ำจะมีอายุการใช้งานยาวนานแต่ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของกองเรือลำน้ำนั้นลดลง
ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติงานที่ นรข. หน่วยเฉพาะกิจต่างๆ รวมถึงการจัดกำลังถวายความปลอดภัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ และการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ

กองเรือยุทธการ ซึ่งเป็นหน่วยที่กองเรือลำน้ำขึ้นการบังคับบัญชา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภารกิจดังกล่าว
จึงได้ผลักดันให้โครงการจัดหาเรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำได้รับการอนุมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานรักษาอธิปไตยของประเทศของกองเรือลำน้ำให้สูงขึ้น
ซึ่งเรือทั้ง 6 ลำนี้ถือว่าเป็นเรือที่มีความทันสมัย มีขีดความสามารถสูง และจะสามารถปฏิบัติงานตอบสนองนโยบายของกองทัพเรือได้เป็นอย่างดี
และในอนาคต กองเรือลำน้ำจะได้รับอนุมัติการจัดหาเรือเพิ่มเติมเพื่อทดแทนเรือรุ่นเก่าที่มีอายุการใช้งานยาวนานต่อไป

ที่มา:กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ
https://www.facebook.com/prthainavy/photos/pcb.1130267850357903/1130267317024623/

เรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำแบบ M10 Mk2 ของบริษัท Marsun นั้นเป็นแบบที่ได้รับการปรับปรุงจากเรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำแบบ M10 ชุดเรือ ล.161(ล.161-163) ที่ได้รับมอบไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๖
โดยเรือเร็วตรวจการณ์ลำน้ำ M10 Mk2 ชุดเรือ ล.164 ตัวเรือสร้างด้วย Aluminium มีความยาว 11m กว้าง 3m กินน้ำลึก 0.7m (ใหญ่ขึ้นจาก M10 ชุดเรือ ล.161 มีความยาว 10m กว้าง 2.7m )
เครื่องยนต์ Water Jet สองเครื่อง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 45knots(เพิ่มจาก M10 ที่ทำได้ 42knots) พิสัยทำการมากกว่า 250nm อาวุธปืนกลหนัก .50 ๓กระบอก และปืนกลเอนกประสงค์ 7.62x51mm ๒กระบอก รวม ๕กระบอก
ติดตั้ง Radar ตรวจการณ์พื้นน้ำ C-band และ GPS กำลังพลประจำเรือ ๕นาย พร้อมหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ๖นาย งบประมาณที่ใช้ในการสร้างเรือชุดนี้วงเงิน ๙๘,๒๒๖,๐๐๐บาท
บริษัท Marsun ยังได้รับสัญญาการสร้างเรือตรวจการณ์ชายฝั่งจากกองทัพเรือ โดยกำลังจะต่ออยู่อีก ๖ลำ(ต.๒๓๒-ต.๒๓๗) และล่าสุดได้รับคำสั่งจัดหาเพิ่มอีก ๕ลำ ตามที่เคยได้รายงานไปครับ

http://www.supplyonline.navy.mi.th/pdf2/16922.pdf
http://www.supplyonline.navy.mi.th/pdf2/16920.pdf
อีกส่วนใน Website ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างและราคากลางของกองทัพเรือ
มีการลงข้อมูลการจัดซื้อกระสุนปืนใหญ่ 76/62 Vulcano BER จำนวน ๒๒๐นัด วงเงิน ๑๔๙,๗๙๓,๖๐๐บาท และกระสุน 20mm AP-DS สำหรับ Phalanx ๑๐,๐๐๐นัด วงเงิน ๖๐ล้านบาท
สำหรับกระสุน AP-DS 20mm สำหรับ Phalanx CIWS นั้นกองทัพเรือมีใช้ในเรือฟริเกตชุด ร.ล.พุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่จะปลดทุกลำแล้ว รวมถึงเรือฟริเกตสมรรถนะสูงที่กำลังจะต่อใหม่
ส่วนกระสุนปืนใหญ่ 76/62 Vulcano BER นั้นไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้เฉพาะเรือฟริเกตสมรรถนะสูง หรือเรือของกองทัพเรือที่ติดปืนใหญ่ OTO Melara 76/62 ที่ได้รับการปรับปรุงให้ใช้กระสุนพิเศษนี่ได้ซึ่งมีอยู่หลายชุด
โดยนี่จะเป็นครั้งแรกของกองทัพเรือไทยที่มีกระสุนยิงสนับสนุนชายฝั่งความแม่นยำสูงใช้งาน


ตามที่ได้เคยรายงานไปเรือฟริเกตสมรรถนะสูง DSME DW3000H นั้นจะมีกำหนดส่งมอบให้กองทัพเรือภายในปี พ.ศ.๒๕๖๑(2018) โดยจะมีพิธีวางกระดูงูเรือภายในปี พ.ศ.๒๕๕๙(2016) นี้ครับ
(เท่าที่ไปค้นข้อมูลจากแหล่งอื่นคาดว่าอาจจะทำพิธีวางกระดูกงูเรือในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนนี้ครับ)




ผู้บัญชาการทหารเรือลงนามในสัญญาจ้างปรับปรุงเรือ ล่าทำลายทุ่นระเบิดใกล้ฝั่ง(ลทฝ.)ชุดเรือหลวงบางระจัน กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ ร่วมกับผู้แทนบริษัท THALES UK Ltd.
วันนี้(วันที่ 28 มีนาคม 2559)เวลา 16.30 น. พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ลงนามในสัญญาจ้างปรับปรุงเรือ ล่าทำลายทุ่นระเบิดใกล้ฝั่ง(ลทฝ.)ชุดเรือหลวงบางระจัน กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ จำนวน 2 ลำ 
ร่วมกับ Mr.Robert Johnson Director Of Above Water Systems,Tahles UK Ltd. ณ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ โดยเป็นโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพเรือ

กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ที่มา:กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ
https://www.facebook.com/prthainavy/photos/pcb.1141083372609684/1141077535943601/?type=3&theater

รายละเอียดการปรับปรุงเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดใกล้ฝั่งชุด ร.ล.บางระจัน มีข้อมูลตามที่ลงใน Page กองเรือทุ่นระเบิดตามนี้ครับ



ในวันจันทร์ที่ ๒๘ มี.ค.๕๙ เวลา ๑๖๓๐ ทร. โดยผู้บัญชาการทหารเรือได้ลงนามสัญญาจ้างปรับปรุงเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดใกล้ฝั่ง ชุด เรือหลวงบางระจัน จำนวน ๒ ลำ 
ร่วมกับบริษัท THALES UK Limited สหราชอาณาจักร มูลค่าประมาณ ๒,๗๕๐ ล้านบาท หรือประมาณ ๗๐ ล้านยูโร 
มีระยะเวลาดำเนินโครงการ ๑,๑๗๐ วัน โดยเป็นสัญญาจ้างปรับปรุงเรือ ในลักษณะ Mid Life Upgrade โดยมีรายการการปรับปรุงที่สำคัญประกอบด้วย

-การจัดหาเครื่องวัดค่าอิทธิพลตัวเรือแบบเคลื่อนที่ (Mobility Signature Test Range) จำนวน 1 ระบบ สำหรับตรวจวัดค่าอิทธิพลของเรือต่างๆ ใน ทร. จากบริษัท SAES ระบบ MIRS (Multi Influence Range System) 
ซึ่งจะสามารถวัดค่าอิทธิพล เสียง และ แม่เหล็ก ตัวเรือได้ และในอนาคตรองรับการติดตั้งอุปกรณ์วัดค่าความดัน

-การตรวจสอบสภาพ และซ่อมทำตัวเรือตลอดทั้งลำ ซึ่งตัวเรือ ลทฝ. ชุดดังกล่าว เป็นตัวเรือไม้ จำเป็นต้องใช้ช่างฝีมือที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ และผู้ตรวจสอบความแข็งแรงจาก Lloyds’s register

-การปรับปรุงระบบอำนวยการล่าทำลายทุ่นระเบิด (CMS) จากเดิม ATLAS MWS 80 และ โซนาร์แบบ DSQS-11H เป็น ระบบ M-cube และ โซนาร์แบบ TSM2022 Mk III 
และติดตั้ง MWDC (Mine Warfare Database Compute)r และการ Integrate ระบบ M-cube ร่วมกับ ยานล่าทำลายทุ่นระเบิดแบบ Seafox MDV

-การถอดถอนอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์เดินเรือ และติดตั้งใหม่ รวมทั้งการซ่อมบำรุงเครื่องจักรใหญ่ เครื่องไฟฟ้า ระบบเครื่องปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าภายในเรือ ด้วยอะไหล่แบบ Non-magnetic

-การจัดหาและติดตั้ง Decompression Chamber สำหรับรองรับการปฏิบัติการใต้น้ำ ของ เจ้าหน้าที่ถอดทำลายอมภัณฑ์ แบบ ๒ ที่นั่ง ความดัน 6 ATA จำนวนลำละ ๑ ระบบ

การจ้างปรับปรุงเรือในครั้งนี้ จะส่งผลให้ ร.ล.บางระจัน และ ร.ล.หนองสาหร่าย ที่ ทร.ใช้ในราชการมามากกว่า ๒๕ ปี มีความพร้อมโดยสมบูรณ์แบบ 
โดยมีระบบอำนวยการล่าทำลายทุ่นระเบิดที่ทันสมัย ทัดเทียมกองทัพเรือประเทศต่างๆ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยียม อินเดีย นอร์เวย์ และ เนเธอร์แลนด์ เลยทีเดียวครับ

ที่มา กองเรือทุ่นระเบิด
https://www.facebook.com/MineSquadron/posts/1710479495865383
https://www.facebook.com/MineSquadron/

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10208871628726120&set=a.1536942381618.78377.1176621495
https://www.facebook.com/rach2511
ที่มา รัชต์ รัตนวิจารณ์

ส่วนของกองทัพอากาศก็มีความคืบหน้าในโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางสำหรับค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ ระยะที่๒ ฮ.๑๑ EC725 จำนวน ๒เครื่อง เพิ่มเติมจากระยะที่๑ จำนวน ๔เครื่องที่ได้รับมอบเครื่องแล้ว
ที่คณะกรรมการของกองทัพอากาศไปดูความคืบหน้าในการผลิตเครื่องที่โรงงาน Airbus Helicopters ที่ฝรั่งเศส วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์-๖ มีนาคม ๒๕๕๙

https://www.facebook.com/photoby.wing.56/posts/560965010735638
ที่มา กองกิจการพลเรือน กองบิน๕๖

และการฝึก Cope Tiger 2016 ที่กองทัพอากาศไทยได้ทำการฝึกร่วมกับกองทัพอากาศสหรัฐฯและกองทัพอากาศสิงคโปร์ผ่านเครือข่าย Link 16
และมีภาพหมวกนักบินติดระบบแสดงผล JHCMS สำหรับ F-16AM/BM EMLU ฝูงบิน๔๐๓ กองบิน๔ ในการฝึกเป็นครั้งแรก
ทำให้ปัจจุบันกองทัพอากาศมีหมวกนักบินติดศูนย์เล็งและระบบแสดงผลแล้วสามแบบคือ DASH สำหรับ F-5E/F Tigris ฝูงบิน๒๑๑ กองบิน๒๑ และ Cobra สำหรับ Gripen C/D ฝูงบิน๗๐๑ กองบิน๗


โครงการพัฒนาอากาศไร้คนขับ บร.ทอ.๑ Tiger Shark II UAV จำนวน ๑๗เครื่อง วงเงิน ๕๗๙,๗๐๔,๖๐๐บาท ของ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศ ที่เคยรายงานไปนั้น
มีรายงานเพิ่มเติมว่าผู้รับสัญญาหลักคือบริษัทอุตสาหกรรมการบินจำกัด หรือ TAI(Thai Aviation Industries Co.,Ltd.) โดยมีบริษัทอื่นคือ AVIA Satcom เป็นผู้รับสัญญารอง



ในงานแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีเรือในทศวรรษหน้าครั้งที่ ๓ หรือ Ship Tech 3 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทาง AVIA Group ก็ได้มีการนำอากาศยานไร้คนขับแบบ Black Kite ของบริษัทมาจัดแสดง

http://person.rtaf.mi.th/BY2559/RecruitDivision/Doc/ประกาศรับสมัครและสอบคัดเลือกนักบินหญิง.pdf

ด้านนโยบายการรับนักหญิงเข้าประจำการในกองทัพอากาศไทยนั้น ล่าสุดก็มีการออกประกาศรับสมัครนักบินหญิงชุดแรกของกองทัพอากาศไทยจำนวน ๕คน ตามรายละเอียดในเอกสารข้างต้น
อย่างไรก็ตามนโยบายการรับนักบินหญิงเข้าประจำการในส่วนนักบินลำเลียงประจำฝูงบินลำเลียงกองทัพอากาศนั้น ดูเหมือนเริ่มจะมีเสียงต่อต้านจากกำลังพลภายในกองทัพอากาศบางส่วนครับว่า
นักเรียนนายเรืออากาศที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรืออากาศนั้น แต่ละปียังมีอัตราที่จะได้เข้ารับการศึกษาเป็นศิษย์การบินในโรงเรียนการบินไม่พอต้องแย่งกัน
การที่เปิดให้มีนักบินหญิงจากภายนอกเข้ามาทำงานในฝูงบินร่วมกับนักบินชายที่จบจากโรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายเรืออากาศโดยตรง ถือว่าเป็นสิ่งไม่น่าจะเหมาะสมในหลายๆด้าน
ก็ต้องดูกันต่อไปในระยะยาวว่านโยบายนี้จะมีผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไรครับ