วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความคืบหน้าโครงการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยในปี ๒๕๕๙-๖

NORINCO VN1 8x8 model at Defense & Security 2015(My Own Photo)

สำหรับโครงการพิจารณายานเกราะล้อยางแบบใหม่ของกองทัพบกไทยนั้นล่าสุดมีรายงานข้อมูลออกมาเพิ่มเติมครับว่า แบบตัวเลือกในการพิจารณานั้นได้มีรถหุ้มเกราะล้อยาง 8x8 แบบ VN1 ของ NORINCO สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเสนออีกแบบ
นอกจากที่ได้รายงานไปก่อนหน้านี้ว่ามีประเทศที่เสนอแบบรถหุ้มเกราะล้อยางของตนคือรัสเซียที่เสนอ รถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-82A และยูเครนเสนอ BTR-3 หรือ BTR-4 ซึ่งทำให้ล่าสุดมีอย่างน้อยสามประเทศแล้วที่เสนอแบบรถของตนในโครงการของกองทัพบกไทยนี้



VN1 8x8 Bolivarian Marine Infantry(Venezuelan Marine Corps) Bolivarian Navy of Venezuela(Navy of Venezuela)

VN1 เป็นรถรบทหารราบสะเทินน้ำสะเทินบกล้อยาง 8x8 ซึ่งเป็นรุ่นส่งออกของรถรบทหารราบล้อยาง ZBL-09 หรือ Type 07 ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน
คุณสมบัติและสมรรถนะของ VN1 มีน้ำหนักรถ 21tons ความยาวรถ 8m ความกว้างรถ 3m ความสูงรถ 2.1m ความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถน้อยกว่า 0.45m
ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล Deutz BF6M1015C กำลัง 440HP ทำความเร็วบนถนนสูงสุด 100km/h ทำความเร็วขณะลอยตัวในน้ำ 8km/h พิสัยทำการ 800km ปีนที่ลาดชันได้สูงสุด 30% ข้ามคูได้กว้าง 1.8m ข้ามเครื่องกีดขวางได้สูงสุด 0.55m
ระบบอาวุธติดป้อมปืนใหญ่กล 30mm พร้อมปืนกลร่วมแกน 7.62mm และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง HJ-73D นำวิถีด้วยเส้นลวดแบบ SACLOS ระยะยิง 3,000m
(HJ-73 มีพื้นฐานลอกแบบมาจาก 9M14 Malyutka รัสเซีย ซึ่ง NATO กำหนดรหัส AT-3 Sagger โดยรุ่น HJ-73D ปรับปรุงระบบนำวิถี และใช้หัวรบสองชั้น Tandem HEAT เพื่อเพิ่มอำนาจการเจาะเกาะปฏิกิริยาแรงระเบิด ERA)
พลประจำรถ ๓นาย และบรรทุกทหารราบได้ ๗นาย(จำนวนกำลังพลที่บรรทุกได้ขึ้นกับว่าเป็นรุ่นรถรบทหารราบ IFV ๗นาย หรือรุ่นลำเลียงพล APC ๑๐-๑๑นาย ตามความต้องการของลูกค้า)

นาวิกโยธินกองทัพเรือเวเนซุเอลาเป็นลูกค้ารายแรกที่จัดหารถรบทหารราบล้อยาง VN1 ราว ๖๐คัน พร้อมกับรถรบทหารราบสะเทินน้ำสะเทินบกสายพาน VN18(ZBD-05 รุ่นส่งออก) และรถถังเบาสะเทินน้ำสะเทินบก VN16(ZTD-05 รุ่นส่งออก) วงเงินโครงการรวม $500 million
และมีรายงานว่ากระทรวงกลาโหมอาเจนตินาได้สั่งจัดหารถหุ้มเกราะล้อยางลำเลียงพล VN1 จำนวน ๑๑๐คัน พร้อมสายการผลิตในโรงงาน Tandanor-CINAR ซึ่ง VN1 รุ่นที่กองทัพบกอาเจนตินาจะจัดหาเป็นรุ่นลำเลียงพล APC ติดอาวุธหลักปืนกลหนัก 12.7mm กำลังพล ๓+๑๑นาย

NORINCO ST1 8x8 105mm assault gun

รถหุ้มเกราะล้อยางตระกูล VN1 ยังมีแบบสำหรับส่งออกอีกหลายรุ่นตามพื้นฐานของรถหุ้มเกราะล้อยาง ZBL-09 ที่ประจำการในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน
เช่น รถหุ้มเกราะล้อยางติดปืนใหญ่รถถังแบบ ST1 ซึ่งติดตั้งป้อมปืนใหญ่รถถังขนาด 105mm (จีนลอกแบบพื้นฐานจากปืนใหญ่รถถัง L7 105mm อังกฤษ) ที่เป็นรุ่นส่งออกที่มีพื้นฐานจากรถหุ้มเกราะล้อยางติดปืนใหญ่รถถัง ZTL-09
ปืนใหญ่อัตตาจรล้อยาง PLZ-09 ขนาด 122mm หรือ 155mm, เครื่องยิงลูกระเบิดอัตตาจรล้อยาง PLL-09 ขนาด 120mm, ระบบต่อสู้อากาศยานอัตตาจร CS/SA5 ประกอบด้วยปืนใหญ่กล Gatling หกลำกล้อง 30mm และอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศพิสัยใกล้
รถเกราะล้อยางที่บังคับการ, รถเกราะล้อยางลาดตระเวน, รถเกราะล้อยางกู้ซ่อม และรถเกราะล้อยางพยาบาล เป็นต้น


ZBL-09 8x8 People's Liberation Army Ground Force

ถ้าเปรียบเทียบตัวเลือกแบบยานเกราะล้อยางที่เสนอให้กองทัพบกพิจารณาล่าสุด ณ ขณะนี้นั้น คงจะต้องกล่าวว่าถ้าดูเฉพาะด้านการออกแบบตัวรถแล้วยานเกราะล้อยาง VN1 จีนดูจะมีความทันสมัยที่สุด
เมื่อเทียบกับยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 ยูเครนที่ประจำการในกองทัพบกปัจจุบัน และยานเกราะล้อยาง BTR-82A รัสเซียนั้นต่างมีพื้นฐานมาจากรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-80 เช่นเดียวกัน
ตามที่เสนอในบทความวิเคราะห์ไปครับว่า BTR-82A รัสเซียนั้นมีมิติขนาดเล็กกว่า BTR-3E1 และใช้ป้อมปืนแบบใช้พื้นที่วางภายในตัวรถ ทำให้ไม่สะดวกที่จะปรับแต่งภายในรถให้รองรับหมู่ทหารราบ ๑๑นายตามมาตรฐานกองทัพบกไทยเพิ่มจากหมู่ทหารราบรัสเซีย ๗นายได้
ส่วน BTR-3E1 ยูเครนนั้นถ้าไม่นับปัญหาความล่าช้าในการผลิตส่งมอบ ถึงตัวรถจะมีมิติขนาดใหญ่กว่า BTR-82A แต่การปรับปรุงให้รองรับการบรรทุกหมู่ทหารราบให้ครบ ๑๑นาย ผลตอบรับจากการฝึกหลายปีที่ผ่านมากำลังพลที่ใช้งานรถก็ไม่สะดวกมากนัก เช่น ในการขึ้นลงจากประตูข้างซ้ายขวาหรือช่องเปิดตั้งหลังคารถ
รถหุ้มเกราะล้อยางที่ออกแบบในมาตรฐานเดียวกับตะวันตก เช่น BTR-4 ยูเครน และ VN1 ที่มีประตูเปิดด้านท้ายจะทำให้กำลังพลสะดวกต่อการจัดที่นั่งภายในและขึ้นลงรถมากกว่า
อย่างไรตามรถเกราะล้อยาง VN1 เมื่อดูจากรถเกราะล้อยาง ZBL-09 ที่เป็นแบบพื้นฐานแล้ว ประตูท้ายของ ZBL-09 จะเป็นประตูขนาดไม่ใหญ่มากเปิดปิดด้านข้างเหมือนรถสายพานลำเลียง รสพ.๓๐ Type 85 ที่ประจำการในกองทัพบกมานานแล้ว
ต่างจากรถเกราะล้อยาง BTR-4 ที่ประตูท้ายมีประตูขนาดใหญ่เปิดทางซ้ายและขวา ซึ่งทำให้กำลังพลสะดวกในการขึ้นลงอย่างรวดเร็วพร้อมๆกันได้ดีกว่า VN1 ที่มีประตูเดียว

VN1 with HJ-73D Anti-Tank Missile

ด้านระบบอาวุธนั้นถ้าเปรียบเฉพาะในรุ่นรถรบทหารราบ IFV(Infantry Fighting Vehicle) เหมือนกัน BTR-82A รัสเซียจะมีอำนาจการยิงน้อยที่สุดคือมีป้อมปืนไร้คนบังคับ BPPU ติดปืนใหญ่กล 30mm กับปืนกลร่วมแกน 7.62mm เท่านั้น
ส่วน VN1 IFV จะสูงขึ้นมาโดยในรุ่นที่ส่งออกให้นาวิกโยธินเวเนซุเอลามีป้อมปืนใหญ่กล 30mm ปืนกลร่วมแกน 7.62mm และรางติดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง HJ-73D ๑นัด
แต่นั่นก็ทำให้ระบบป้อมปืนไร้คนบังคับ Shturm ที่ติดกับ BTR-3E1 และ BTR-4 มีอำนาจการยิงสุงสุดในกลุ่มตัวเลือกด้วย ปืนใหญ่กล 30mm, ปืนกลร่วมแกน 7.62mm, เครื่องยิงลูกระเบิด 30mm และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังนำวิถี Laser SACLOS แบบ Barrier ระยะยิง 5,000m
เมื่อเทียบกับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง HJ-73D ที่เป็นอาวุธปล่อยนำวิถีด้วยเส้นลวด  wire-guided SACLOS รุ่นเก่าระยะยิงเพียง 3,000m ซึ่งแม้จะมีการปรับปรุงมาหลายรุ่นแต่ก็ล้าสมัยไปมากแล้ว
แม้ว่าจีนจะมีการพัฒนาระบบอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังยุคที่๓ ของตนแล้ว เช่น HJ-9 นำวิถี Laser SACLOS/ Semi-Active Millimetre Wave Radar ระยะยิง 5,500m ที่ใช้ในรถเกราะล้อยางติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังแล้วก็ตาม
รวมถึงการพัฒนาป้อมปืนต้นแบบขั้นก้าวหน้า เช่น ระบบป้อมปืนใหญ่รถถัง 100mmพร้อมปืนใหญ่กล 30mm และ ป้อมปืนใหญ่กล 30mm พร้อมอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังยุคที่๒ HJ-8 เป็นต้น
แต่ก็ยังไม่พบว่ามีการพัฒนาระบบต้นแบบต่างๆเหล่านี้มาติดตั้งกับรถรบทหารราบที่ประจำการจริงในขณะนี้รวมถึงเพื่อการส่งออกด้วยหรือไม่
รวมถึงความเป็นไปได้ที่ว่ารถหุ้มเกราะล้อยาง VN1 ที่เสนอให้กองทัพบกพิจารณานั้นอาจจะเป็นแบบเดียวกับของกองทัพบกอาเจนตินา คือเป็นรุ่นลำเลียงพล APC ติดเฉพาะป้อมปืน Remote ขนาด 12.7mm กำลังพล ๓+๑๑นาย หรือไม่เช่นกัน
ก็คงต้องติดตามความคืบหน้าในโครงการพิจารณายานเกราะล้อยางแบบใหม่ของกองทัพบกนี้กันต่อไปในอนาคตครับ

ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่ผ่านมากองทัพเรือไทยมีการจัดการฝึกซ้อมรบหลายการฝึกครับ เช่น 
-การฝึกกองทัพเรือประจำปี ๒๕๕๙
-การฝึกผสม Guardian Sea 2016 กองทัพเรือไทย-กองทัพเรือสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙
-การฝึกผสม  BLUE STRIKE 2016 กองทัพเรือไทย-กองทัพเรือปลดปล่อยประชาชนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ ๒๑ พฤษภาคม-๙ มิถุนายน ๒๕๕๙
-การฝึกร่วมกองทัพไทยประจำปี ๒๕๕๙ ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๙
-การฝึกผสม CARAT 2016 กองทัพเรือไทย-กองทัพเรือสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙
ซึ่งการฝึกต่างๆเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมในการปฏิบัติการของกองทัพเรือไทยทั้งการปฏิบัติรวมกับกองทัพบกและกองทัพอากาศไทย รวมถึงมิตรประเทศทั้งสหรัฐฯและจีนครับ

ZTD-05 Amphibious Light Tank People's Liberation Army Marine Corps at exercise Blue Strike 2016 Thailand

ZBD-05 Amphibious Infantry Fighting Vehicle People's Liberation Army Marine Corps at exercise Blue Strike 2016 Thailand


เฉพาะในส่วนการฝึกผสม BLUE STRIKE 2016 นั้นปีนี้เป็นปีแรกที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์หลายแบบมาทำการฝึกในไทย 
เช่น เรืออู่ยกพลขึ้นพลชั้น Type 071 LPD-989 Changbaishan, ปืนใหญ่อัตตาจรสายพาน PLZ-07 122mm, รถรบทหารราบสะเทินน้ำสะเทินบกสายพาน ZBD-05 และรถถังเบาสะเทินน้ำสะเทินบก ZTD-05 
ซึ่งในส่วนรถรบทหารราบ ZBD-05 และรถถังเบา ZTD-05 นั้นจากการสาธิตการฝึกยิงกระสุนจริงที่สนามฝึกกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม จันทบุรี ร่วมกับรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-3E1 กองพันรถถัง นาวิกโยธินกองทัพเรือไทยนั้น 
ได้สร้างความสนใจในสมรรถนะของรถรบแบบนี้ของจีนต่อนาวิกโยธินไทยพอสมควร

การจัดกำลังของหน่วยรถรบและยานเกราะของ กองพลนาวิกโยธิน กองทัพเรือไทยนั้น จะมีอัตราจัดอยู่ใน กองพันรถถังนาวิกโยธิน โดย พัน.ถ.นย.จะมีหน่วยขึ้นตรงในอัตราจัดประกอบด้วย
-กองร้อยรถถัง มีรถถังหลัก Type 69-II ๕คันที่โอนมาจากกองทัพบกหลายสิบปีแล้ว
-กองร้อยยานเกราะ มีรถหุ้มเกราะล้อยาง 4x4 แบบ V-150 ติดป้อมปืนกลหนัก M2 .50(12.7x99mm)กับปืนกล MG3 7.62x51mm จำนวน ๒๔คัน และรถหุ้มเกราะล้อยาง 8x8 BTR-3E1 จำนวน ๑๒คัน
-กองร้อยต่อสู้รถถัง มีรถยนต์บรรทุก HMMWV ติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง TOW

ASCOD Pizarro LT-105 Light Tank

เดิมทีเมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๓๙-๒๕๔๑(1996-1998) นั้นกองพันรถถังนาวิกโยธินมีแผนจะจัดหารถถังเบา ASCOD LT-105 ติดป้อมปืนใหญ่ 105mm จากสเปนจำนวน ๑๕คันสำหรับ ๑กองร้อยรถถัง ตั้งวงเงินไว้ที่คันละ $2-3 million รวมราว ๑,๐๕๐ล้านบาทในเวลานั้น
แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.๒๕๔๐(1997) นำมาสู่การลดค่าเงินบาทและตัดลดงบประมาณกลาโหม ทำให้กองทัพเรือต้องยกเลิกโครงการจัดหารถถังสำหรับนาวิกโยธิน และรับโอน ถ.๓๐ Type 69-II ๕คันจากกองทัพบกมาใช้งานมาตลอด
ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมากองทัพเรือได้ศึกษาแบบรถหุ้มเกราะสายพานติดปืนใหญ่รถถังสำหรับจะนำเข้าประจำการในกองพันรถถังนาวิกโยธินมาตลอด 
เช่น CV90105-T และ CV90120-T สวีเดน ติดป้อมปืนใหญ่ขนาด 105mm และ 120mm กับ K21-105/120 สาธารณรัฐเกาหลี ติดป้อมปืน Cockerill XC-8 ขนาด 105mm หรือ 120mm เบลเยียม
โดยได้เคยเสนองบประมาณราว ๒,๕๐๐ล้านบาท สำหรับ ๑กองร้อยรถถังนาวิกโยธินจำนวน ๑๕คัน แต่อย่างไรก็ตามหลังโครงการจัดหายานเกราะล้อยาง BTR-3E1 จำนวน ๑๒คัน วงเงิน ๔๒๐ล้านบาท นาวิกโยธินก็ยังไม่มีโครงการจัดหารถรบใหม่อีกแต่อย่างใด

ทั้งนี้ในส่วนของโครงการวิจัยและพัฒนายานเกราะล้อยางสำหรับนาวิกโยธิน ที่กองทัพเรือลงนามความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สปท. DTI ไปแล้ว 
ที่จำเป็นจะต้องมีการวิจัยศึกษาประเมินคุณสมบัติความต้องการในการพัฒนารถต้นแบบสำหรับนาวิกโยธิน เพิ่มเติมจากรถหุ้มเกราะล้อยาง Black Widow Spider สำหรับกองทัพบกนั้น ยังต้องใช้เวลาในการดำเนินการกว่าได้รถต้นแบบอีกนานพอสมควร
ซึ่งนอกจากในส่วนกองร้อยรถถังของนาวิกโยธินที่อัตราไม่ครบ ๑๕คันตามที่วางแผนไว้มานานหลายสิบปีแล้ว 
กองทัพเรืออาจจะมองในส่วนการจัดหารถรบใหม่ทดแทน V-150 ๒๔คันใน ร้อย.ก.พัน.ถ.นย. และรถเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก LVTP7 ๑๒คันรุ่นเก่าที่ผ่านการปรับปรุงแล้ว และ AAV7A1 ๒๔คันในกองพันรถสะเทินน้ำสะเทินบกด้วย


VN16 Amphibious Light Tank Bolivarian Marine Infantry(Venezuelan Marine Corps) Bolivarian Navy of Venezuela(Navy of Venezuela)

นั่นทำให้รถเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกสายพาน VN18(ZBD-05 รุ่นส่งออก) และรถถังเบาสะเทินน้ำสะเทินบก VN16(ZTD-05 รุ่นส่งออก) จีนอาจจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่นาวิกโยธินกองทัพเรือไทยอาจจะให้ความสนใจ เช่นเดียวกับที่นาวิกโยธินเวเนซุเอลาจัดหาไปแล้ว
โดยรถถังเบาสะเทินน้ำสะเทินบก ZTD-05 มีกำลังพลประจำรถ ๔นาย(ผบ.รถ, พลขับ, พลยิง และพลบรรจุ) ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลกำลัง 550HP ทำบนถนนได้ 65km/h และขณะลอยตัวในน้ำได้ถึง 25km/h โดยใช้ชุดเพิ่มกำลังเครื่องยนต์พิเศษเป็น 1475HP
ติดตั้งปืนใหญ่รถถังลำกล้องเกลียวขนาด 105mm(มีพื้นฐานจาก ปถ.L7 เช่นกัน) สามารถยิงกระสุนมาตรฐาน NATO รวมถึงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังที่จีนพัฒนาเองจากปากกระบอกปืนขณะอยู่บนบกและลอยตัวในน้ำได้ พร้อมปืนกลร่วมแกน 7.62mm และปืนใหญ่กล 12.7mm
ส่วนรถรบทหารราบสะเทินน้ำสะเทินบกสายพาน ZBD-05 มีกำลังพลประจำรถ ๓นาย(ผบ.รถ, พลขับ และพลยิง) บรรทุกทหารราบได้ ๘นาย ติดตั้งปืนใหญ่กล 30mm พร้อมปืนกลร่วมแกน 7.62mm และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง HJ-73 ๒นัด

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่จะได้รับในอนาคตด้วยว่าจะเพียงพอต่อการดำเนินโครงการจัดหาหรือไม่ 
อีกทั้งถ้าจะว่ากันตามตรงระบอาวุธจากจีนในปัจจุบันแม้จะมีการพัฒนาด้านประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่ก็ควรต้องมาดูจากผลการปฏิบัติงานจริงของระบบนั้นๆครับ ไม่ใช่ดูแค่รายละเอียดสมรรถนะในเอกสารประชาสัมพันธ์อย่างเดียว
ซึ่งจากการฝึก Blue Strike 2016 ล่าสุดที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไทยที่ร่วมการฝึกหลายนายก็ยังได้เห็นถึงข้อบกพร่องของระบบอาวุธจีนแบบต่างๆที่นำมาฝึกหลายอย่างที่ไม่น่าประทับใจนักอยู่ครับ


พิธีเริ่มเดินเครื่องตัดโลหะ CNC เรือ OPV ลำที่ 2
พล.ร.อ.พลเดช เจริญพูล ประธานคณะกรรมการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง และที่ปรึกษาพิเศษ กองทัพเรือ 
เป็นประธานในพิธี เริ่มเดินเครื่องตัดโลหะ CNC สำหรับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ลำที่ ๒ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๖๐

ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.กระบี่ ลำที่๒ นั้น ก็ได้มีการทำพิธีเดินเครื่องตัดโลหะชิ้นส่วนเรือเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งความคืบหน้าในการก่อสร้างเรือขั้นต่อไปคงจะมีรายงานตามมาครับ





ยามเย็นวันนี้ ร.ล.แหลมสิงห์ เครดิตรูปจาก ช่างต่อเรือเหล็ก อธบ.อร.

ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนชุด ร.ล.แหลมสิงห์ นั้นการติดตั้งระบบอาวุธประจำเรือเช่น ปืนใหญ่เรือ OTO Melara 76/62 และปืนใหญ่กล MSI DS30MR คาดว่าจะเริ่มต้นในราวเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป
และคาดว่า ร.ล.แหลมสิงห์ จะมีกำหนดการทำพิธีขึ้นระวางประจำการภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นี้ครับ

แบบจำลองเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้า(Conventional Submarine) ของ China Shipbuilding Industry Corporation(CSIC) และ China Shipbuilding & offshore International(CSOC) 
ในงานแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีเรือในทศวรรษหน้าครั้งที่๓ Ship Technology for the Next Decade หรือ Ship Tech.III (My Own Photo)

หลังจากมีการผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ.๒๕๖๐ ไปนั้น ก็มีกระแสข่าวออกมาครับว่า
กองทัพเรือไทยจะมีการเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำแบบ S26T จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เบื้องต้น ๑ลำ วงเงินประมาณ ๑๓,๐๐๐ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณในส่งนของกองทัพเรือเอง โดยมีแผนจะจัดซื้อให้ครบ ๓ลำภายใน ๑๒ปี
ข้อมูลเดิมนั้นกองทัพเรือได้ตั้งงบประมาณจัดหาเรือดำน้ำแบบ S26T จากจีนจำนวน ๓ลำวงเงินประมาณ ๓๖,๐๐๐ล้านบาท แต่กองทัพเรือได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการใช้งบประมาณผูกผันต่อเนื่องในโครงการนี้จากคำแนะนำของรัฐบาลและกระแสต่อต้านจากภาคสังคม
ซึ่งทำให้ข้อมูลล่าสุดจึงออกมาว่ากองทัพเรือจะดำเนินการจัดหาเรือดำน้ำ S26T เพียง ๑ลำในขั้นต้นเพื่อเป็นการลดจำนวนงบประมาณที่จะต้องใช้ในโครงการและกระแสต่อต้านจากประชาชน

อย่างไรก็ตามกระแสต่อต้านทั้งภายในกองทัพเรือ กระทรวงกลาโหม และภาคประชาสังคมที่จะต้องการให้ยกเลิกโครงการจัดหาเรือดำน้ำจากจีนก็ยังสูงมากอยู่ดี 
แม้ว่ากองทัพเรือจะพยายามลดกระแสกดดันต่อต้านจากภาคส่วนต่างๆโดยลดจำนวนการจัดหาเรือในระยะแรกมาเป็นเพียง ๑ลำในเบื้องต้นเพื่อลดงบประมาณที่ใช้ในโครงการลง แต่ฝ่ายต่อต้านนั้นมีจุดประสงค์ต้องการที่จะให้กองทัพเรือยุติโครงการจัดหาเรือดำน้ำโดยถาวรตลอดไป
ดังนั้นแม้ว่าจะมีการผ่านการอนุมัติงบประมาณจัดซื้อเรือก็ตาม แต่ก็มีความอ่อนไหวมากที่จะมีการเปลี่ยนแปลงจนในอนาคตกองทัพเรือไม่สามารถจัดหาเรือดำน้ำได้อีกครั้งจากหลายขั้นตอนและวิธีการ 
เช่นถ้า สนช.ผ่านการอนุมัติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจริง แต่ในอนาคตถ้ามีการเปลี่ยนแปลงภายในใดๆ ถึงจะลงนามสัญญาจัดหาไปแล้วก็ยังสามารถถูกยกเลิกได้อยู่ดี เพราะก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในหลายๆโครงการที่ผ่านมาในอดีตที่ไม่ประสบความสำเร็จ

ในความเป็นจริงเสียงคัดค้านจากภาคประชาสังคมมีน้ำหนักน้อยมากที่เปลี่ยนแปลงโครงการได้ แต่ถ้าโครงการจัดเรือดำน้ำจีนนี้จะไม่ประสบความสำเร็จอีกครั้งเหมือนเช่นที่ผ่านมาในอดีต ก็จะเนื่องมาจากปัจจัยภายในกองทัพเรือ กระทรวงกลาโหม และอื่นๆที่เกี่ยวข้องเองนั่นละครับ
ก็คงต้องติดตามและหวังว่า กองเรือดำน้ำ กองทัพเรือ จะสามารถจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการได้จริงๆเสียที ไม่มีสภาพเป็นกองทัพเรือที่ปราศจากเรือดำน้ำต่อไปอีกอย่างไม่ทราบว่าจะนานเท่าไร 
เพราะจนถึงตอนนี้เองข่าวการจัดหาเรือดำน้ำดังกล่าวก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากหน่วยผู้รับมอบใช้งานและกองทัพเรือแต่อย่างใดเลย
อย่างล่าสุดบางสื่อก็นำเสนอว่ากองทัพเรือเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีน ๓ลำ วงเงิน ๓๖,๐๐๐ล้านบาท เข้าวาระประชุมพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยเป็นงบประมูลผูกพันจัดซื้อต่อเนื่อง ๑๑ปี ตามขั้นตอน ดูแล้วข่าวยังไม่นิ่งในขณะนี้ที่จะยืนยันอะไรได้ครับ
(ตรงนี้ยังไม่รวมถึงกระแสต่อต้านภายในจากบุคลากรในกองทัพเองหรือประชาสังคมต่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจของหลายๆโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านกันด้วยข้อเท็จจริงทางข้อมูลเชิงประจักษ์ แต่มักเป็นการใช้ประทุษวาจาโจมตีที่ตัวบุคคลมากกว่าตัวโครงการ
เห็นได้ตามสื่อสังคม Online Social Network หรือสื่อมวลชนหลักหลายๆแห่ง ที่บางแห่งอาจดูน่าเชื่อถือเป็นกลางแต่ถ้าอ่านรายละเอียดเชิงลึกก็จะพบว่ามีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ เดี๋ยวหาแหล่งที่จะนำเสนอข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นกลางจริงๆได้น้อยลงไปมากครับ)

น.อ.วสุ มโนสิทธิศักดิ์ ผบ.บน.๖ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมศิษย์การบินฝ่ายยุทธการ รุ่นที่๑ ณ ฝูงบิน๖๐๔ กองบิน๖ ในวันที่ ๑๗ มิ.ย.๕๙
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1179358775450127.1073742182.838645852854756
https://www.facebook.com/กองบิน6-Wing-6-RTAF-838645852854756/

นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกองทัพไทยครับ เมื่อกองทัพอากาศไทยได้เปิดตัวผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นนักบินหญิงชุดแรกทั้ง ๕ท่านประกอบด้วย
เรืออากาศโทหญิง กานต์ชนก จรรยารักษ์
เรืออากาศโทหญิง พีรศรี จักรไพศาล
เรืออากาศตรีหญิง ชนากานต์ สอนจ้าน
นางสาว สิรีธร ลาวัณย์เสถียร
และ นางสาว ชลนิสา สุภาวรรณพงศ์

นักบินหญิงทั้ง ๕ท่านนี้ ๒ท่านที่จบจากสถาบันการบินพลเรือน คือ นางสาว สิรีธร ลาวัณย์เสถียร และ นางสาว ชลนิสา สุภาวรรณพงศ์
จะต้องเข้ารับการฝึกหลักสูตรนายทหารชั้นผู้บังคับหมดเบื้องต้นเป็นเวลา ๑เดือน ก่อนที่ได้รับยศเป็น เรืออากาศตรี จากนั้นจะเข้าฝึกภาควิชาการและภาคอากาศต่ออีก ๗๖ชั่วโมง โดยคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในเดือนกันยายน ๒๕๕๙
ส่วนอีกสามท่านที่เป็นทหารอากาศอยู่แล้วซึ่งยังไม่มีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี จะต้องเข้าฝึกหลักสูตรศิษย์การบินของกองทัพอากาศ, ฝึกภาควิชาการและภาคอากาศ รวม ๕๑๖ชั่วโมง โดยคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในเดือนกันยายน ๒๕๖๐
เพื่อทั้งหมดจะได้รับการบรรจุเป็นนักบินลำเลียงพร้อมรบของกองทัพอากาศต่อไป ซึ่งจะไปทำการบินกับเครื่องบินลำเลียงได้ทุกแบบในทุกฝูงของกองทัพอากาศ
เช่น บ.ล.๘ C-130H ฝูงบิน๖๐๑ กองบิน๖ , บ.ล.๒ก. BT-67 ฝูงบิน๔๖๑ กองบิน๔๑ อาจจะรวมถึง บ.จธ.๒ AU-23A ฝูงบิน๕๐๑ กองบิน๕, บ.อ.๑ SAAB 340 ERIEYE AEW และ บ.ล.๑๗ SAAB 340B ฝูงบิน๗๐๒ กองบิน๗ ด้วย

อย่างไรก็ตามก้าวแรกของประวัติศาสตร์นักบินพร้อมรบหญิงของกองทัพอากาศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้นครับ
เพาะถ้าดูตัวอย่างจากหลายประเทศที่มีการเปิดรับสุภาพสตรีเข้ามาทำการศึกษาในโรงเรียนผลิตนายทหารหลัก หรือเข้ามาบรรจุในหน่วยใช้กำลังของกองทัพ
เช่น กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นซึ่งวิทยาลัยป้องกันประเทศ NDA(โบเอได) ได้เปิดรับสุภาพสตรีเข้ามาเรียนรวมกับสุภาพบุรษเกือบ ๒๐ปีแล้วนั้น
ก็ต้องใช้เวลาเป็นสิบๆปีกว่านายทหารหญิงเรานั้นจะได้รับการยอมรับจากกำลังพลชายที่เป็นกำลังหลักที่บางส่วนมักจะต่อต้าน ตัวอย่างเช่นผู้บังคับการเรือพิฆาตหญิงคนแรกของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นตามที่เคยรายงานไป
ในกรณีของกองทัพอากาศไทยก็ต้องมาดูกันต่อไปในระยะยาวครับว่า นักบินหญิงชุดแรกนี้จะมีโอกาสเติบโตก้าวหน้าในสายงานต่อไปเป็นรากฐานให้นักบินหญิงรุ่นต่อๆไปของกองทัพอากาศไทย
หรือสุดท้ายจะหายไปตามกาลเวลาเหมือนนักเรียนนายร้อยหญิง โรงเรียนนายร้อยทหารบก สมัยสงครามโลกครั้งที่๒ (พ.ศ.๒๔๘๕-๒๔๘๗ 1942-1944) รุ่นแรกและรุ่นเดียว ๒๘ท่าน ครับ

ฮ.๖ UH-1H ฝูงบิน๒๐๓ กองบิน๒ กองทัพอากาศไทย
https://www.facebook.com/rach2511/posts/10209885223265350
https://www.facebook.com/rach2511

ตรงนี้ขอบ่นหน่อยครับ ตั้งแต่ติดตามข่าวอุบัติเหตุ ฮ.๖ UH-1H ๒๒/๑๒ หมายเลขเครื่อง ๒๐๓๔๓ หมวดบิน ๒๐๓๔ ดอนเมือง ฝูงบิน๒๐๓ กองบิน๒ กองทัพอากาศตกระหว่าภารกิจการส่งกำลังบำรุง สถานีถ่ายทอดโทรคมนาคมที่เขาชะเมา
บริเวณ อำเภอจังหวัดระยอง และเขาวง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙ ที่ผ่านมา
โดยพบร่างนักบินและช่างเครื่องเสียชีวิต ๓นายคือ นาวาอากาศตรี พสิษฐ์ เตชะเสน นักบินที่๑, เรืออากาศเอก อลงกรณ์ จันทร์กระจ่าง นักบินที่๒ และ พันจ่าอากาศเอก วิสุทธิ์ พุทธรักษา เจ้าหน้าที่ช่างอากาศยาน
ก็ยิ่งได้เห็นความเหลวไหลของสื่อและสังคมในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการเผยแพร่ข่าวลือที่ไม่มีการตรวจสอบแน่ชัดจากทางการ

อย่างข่าวที่ได้มาตอนเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆบอกว่า ฮ.ที่ตกเป็นแบบ Bell 412 ทั้งที่จริงเป็น UH-1H ต่อมาก็ปล่อยข่าวว่ามีคนโบกผ้าในป่าบ้าง ชุดร่มบินที่บินค้นหาพบควันไฟในป่าบ้าง นักบินและช่างเครื่องรอดทั้ง ๓นายบ้าง
ซึ่งบั่นทอนกำลังใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ชุดค้นหาอย่างมากทั้ง เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ชุดรบพิเศษทหารบก ชุดกองพันลาดตระเวนนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ชุดพลร่มกู้ภัย PJ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ อากาศโยธิน กองทัพอากาศ และตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น
(ชุดค้นหาในส่วนของกองทัพเรือมี นาวาตรี กันตินันท์ เตชะเสน พรรคนาวิกโยธิน ซึ่งเป็นน้องชายของ นาวาอากาศตรี พสิษฐ์ เตชะเสน นักบินที่เสียชีวิตด้วย)
มันแสดงให้เห็นภาพส่วนหนึ่งครับว่าสื่อมวลชนในไทยขณะนี้มีสื่อประเภทที่ไม่มีจรรยาบรรณวิชาชีพทำข่าวด้วยความฉาบฉวยไร้วุฒิภาวะและความรับผิดชอบมาก

ฮ.๑๑ EC725 (Airbus Helicopters H225M) ฝูงบิน๒๐๓ กองบิน๒ กองทัพอากาศไทย
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1081517148565858.1073742484.243966748987573
https://www.facebook.com/wing2RTAF/

ทั้งนี้ผลที่ตามมาจากอุบัติเหตุ ฮ.๖ UH-1H ตกที่เขาชะเมา เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน นั้น ทางกองทัพอากาศไทยมีแผนที่จะปลดประจำการ ฮ.๖ UH-1H ที่ประจำการใน ฝูงบิน๒๐๓ กองบิน๒ ลงจำนวน ๑๐เครื่อง จากจำนวนที่ยังคงประจำการอยู่ราว ๒๐เครื่อง
และมีแผนจะจัดหาอากาศยานปีกหมุนทดแทน ซึ่งเข้าใจว่าคงจะเป็นการจัดหา ฮ.๑๑ EC725 (ปัจจุบัน Airbus Helicopters กำหนดแบบเป็น H225M) เพิ่มเติม
ที่ปัจจุบันจัดหามาแล้วในระยะที่๑ จำนวน ๔เครื่อง และกำลังดำเนินการสร้างในระยะที่๒ อีก ๒เครื่อง และมีแผนจัดหาเพิ่มในระยะที่๓ อีก ๒เครื่อง รวม ๘เครื่อง ให้ครบฝูง ๑๒เครื่องเป็นอย่างน้อย
ในส่วนสถานี Radar บนภูเขาที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ประจำการ ซึ่งจำเป็นต้องมีการส่งกำลังบำรุงด้วยเฮลิคอปเตอร์เท่านั้น เพราะไม่สามารถส่งเสบียงด้วยรถยนต์ สัตว์ต่าง หรือการเดินเท้าได้นั้น
ทางกองทัพอากาศมีแผนที่จะเปลี่ยนไปใช้งานระบบควบคุมที่ไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ประจำ เช่นจากสัญญาณ Microwave เป็นผ่านสาย Fiber optic และดาวเทียม เป็นต้นครับ