วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ภาพสามมิติและข้อมูลเพิ่มเติมเรือตรวจการณ์ Littoral Mission Ship กองทัพเรือมาเลเซียจากจีน

3D model of LSM68 Littoral Mission Ship for Royal Malaysian Navy(http://www.malaysiandefence.com/more-on-the-lms-68)

กองทัพเรือมาเลเซีย(RMN: Royal Malaysian Navy หรือ TLDM: Tentera Laut DiRaja Malaysia) ได้เปิดเผยภาพแบบจำลองสามมิติของเรือตรวจการณ์ Littoral Mission Ship(LMS) ซึ่งได้มีการลงนามจัดหาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 4ลำตามที่รายงานไปก่อนหน้านี้

ข้อมูลเพิ่มเติมจาการวิเคราะห์ของสื่อด้านความมั่นคงและเทคโนโลยีทางทหารของมาเลเซียนั้นมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วนว่า
โครงการเรือตรวจการณ์ LMS นี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Boustead Holdings Berhad ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอู่ต่อเรือ Boustead Naval Shipyard Sdn Bhd(BNS) มาเลเซียร่วมกับ China Shipbuilding & Offshore International Company(CSOC) กลุ่มอุตสาหกรรมทางเรือจีนรายใหญ่
เรือตรวจการณ์ LMS 2ลำแรกจะถูกสร้างที่อู่ต่อเรือบริษัท Wuchang Shipbuilding Industry ในเครือ China Shipbuilding Industry Corporation(CSIC) กลุ่มอุตสาหกรรมทางเรือจีนรายใหญ่อีกราย ในระยะเวลาการสร้าง 24เดือน
และอู่ต่อเรือบริษัท Boustead Naval Shipyard จะดำเนินการต่อเรืออีก 2ลำหลังภายในมาเลเซียเอง ซึ่งถ้าเรือเป็นที่พอใจในประสิทธิภาพตามความต้องการของกองทัพเรือมาเลเซียก็จะมีการสั่งจัดหาเพิ่มเติมในอนาคต
ตามแผนการปรับโครงสร้างกำลังทางเรือจาก 15ชั้นเรือเหลือ 5ชั้นที่เผยแพร่เมื่อต้นปีนี้ กองทัพเรือมาเลเซียต้องการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง LMS รวม 18ลำภายในปี 2023 โดยตั้งเป้าให้ราคาต่อลำอยู่ที่ไม่เกิน 200-300 million Malaysian Ringgit($47.5-71.3 million)

P813 BNS Nirmul Second Ship of Durjoy class Large Patrol Craft(LPC) of the Bangladesh Navy(wikipedia.org)

มีการตั้งข้อสังเกตจากแบบจำลองสามมิติของเรือตรวจการณ์ LSM68 ว่าน่าจะมีพื้นฐานขยายแบบมาจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Durjoy กองทัพเรือบังคลาเทศ ซึ่งออกแบบโดย CSIC สาธารณรัฐประชาชนจีน
เรือตรวจการณ์ชั้น Durjoy กองทัพเรือบังคลาเทศ มีความยาว 64m ระวางขับน้ำ 648tons อาวุธปืนใหญ่เรือ H/PJ-26 76mm, ปืนใหญ่กล Oerlikon 20mm 2กระบอก, แท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ EDS-25A 250mm 6ท่อยิง2แท่น และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำ C-704 4นัด
โดยเรือ 2ลำแรก P811 BNS Durjoy และ P813 BNS Nirmul นั้นทำการสร้างที่อู่เรือ Wuchang ในจีนและเข้าประจำการเมื่อปี 2013 ส่วนเรืออีก 2ลำจะต่อที่อู่ต่อเรือ Khulna บังคลาเทศ ซึ่งกองทัพเรือบังคลาเทศมีความต้องการเรือตรวจการณ์ชั้นนี้รวม 8ลำ

ข้อมูลเกี่ยวกับสมรรถนะของแบบเรือตรวจการณ์ LSM68 ที่มีในขณะนี้เบื้องต้นคือ เรือมีความยาว 68m ระวางขับน้ำประมาณ 700tons ซึ่งระบบเครื่องยนต์อาจจะใช้เครื่องยนต์ดีเซลของ MTU เยอรมนีสองเครื่อง(เรือชั้น Durjoy บังคลาเทศใช้เครื่องยนตร์ดีเซล Pielstick สองเครื่อง)
ส่วนระบบอาวุธยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด แต่จากแบบจำลองสามมิติจะเห็นว่าเรือติดปืนใหญ่เรือ H/PJ-26 ขนาด 76mm จีน(ที่ได้สิทธิบัตรการผลิตจากปืนใหญ่เรือ AK-176 76mm รัสเซีย) และอาจจะติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านเรือผิวน้ำซึ่งยังไม่ทราบแบบ
จะเห็นได้รูปแบบการจัดหาเรือ LMS ของมาเลเซียมีความคล้ายกับของบังคลาเทศ แต่ในส่วนระบบอาวุธและอุปกรณ์ประจำเรือนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบที่เป็นของจีน เนื่องจากปัจจุบันนี้มาเลเซียไม่มีระบบอาวุธทางเรือจากจีนแบบใดประจำการอยู่เลย
ซึ่งจีนเองก็มีประสบการณ์ในการบูรณาการระบบอาวุธและอุปกรณ์ประจำเรือของตะวันตกที่กองทัพเรือมาเลเซียใช้งานในปัจจุบันกับเรือที่จีนสร้าง ดังเช่นตัวอย่างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุด ร.ล.ปัตตานี กองทัพเรือไทยเป็นต้นครับ