วันจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560

เครื่องบินขับไล่ไอพ่น Stealth Qaher F-313 อิหร่านสาธิตการเคลื่อนที่บนทางขับ



Qaher F-313 Stealth Fighter Jet

Iran made fighter plane Qaher F 313 taxi test

Iran made domestic training jet named Kosar

Iran tactical unmanned combat aerial vehicle (UCAV) Mohajer-6

http://www.irna.ir/fa/News/82492911

วันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอิหร่าน Hassan Rouhani และรัฐมนตรีกลาโหมอิหร่าน พลจัตวา Hossein Dehqan ได้เยี่ยมชมการจัดแสดงความสำเร็จในการพัฒนาอาวุธยุทธโปกรณ์ล่าสุดของกองทัพอิหร่าน
ซึ่งประกอบด้วยอากาศยานรบไร้คนขับ (UCAV: Unmanned Combat Aerial Vehicle) แบบ Mohajer-6, อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยไกลแบบ Fakour-90(ลอกแบบจาก AIM-54 Phoenix ที่เป็นอาวุธหลักของ F-14A ที่มีประจำการในกองทัพอากาศอิหร่าน),
เครื่องบินฝึกไอพ่น Kosar-88 และเครื่องบินขับไล่ตรวจจับได้ยาก Qaher F-313 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เครื่องบินไอพ่นแบบนี้มีนักบินนั่งบังคับและแสดงการเคลื่อนที่ในทางขับจริง

เครื่องบินขับไล่ Stealth Qaher F-313 นั้นถูกเปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2013 อย่างไรก็ตามจากภาพถ่ายที่ปรากฎนั้นเป็นเพียงแบบจำลอง Mock-Up อย่างหยาบๆที่ไม่สามารถทำการบินได้จริง
โดยห้องนักบินมีขนาดเล็กเกินกว่าที่มนุษย์จะนั่งได้และติดตั้งอุปกรณ์ที่ไม่สมบูรณ์ต่อการทำการบิน ช่องรับอากาศเข้าเครื่องยนต์มีขนาดเล็กเกินไป และส่วนตัวเครื่องที่ดูไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์จริงๆ
รวมถึงรูปแบบปีกที่ดูไม่น่าจะทำการบินจริงๆได้ดี นักวิเคราะห์ทางทหารส่วนใหญ่จึงเชื่อว่า Qaher เป็นเพียงแบบจำลองเครื่องบินในจินตนาการอย่างที่ใช้ประกอบฉากภาพยนตร์เท่านั้น

อย่างไรก็ตามเครื่องบินขับไล่ Qaher-313 เครื่องต้นแบบใหม่ที่เปิดตัวล่าสุดนี้มีห้องนักบินที่มีนักบินนั่งบังคับได้จริงบนเก้าอี้ดีดตัว รวมถึงติดตั้งเครื่องยนต์ไอพ่นสองเครื่องคู่ที่ทำงานได้จริง
ที่อาจจะเป็นเครื่องยนต์ไอพ่น Turbojet ที่อิหร่านลอกแบบจาก ย. General Electric J85 ที่เป็นเครื่องยนต์ของ F-5 ที่ประจำการในกองทัพอากาศอิหร่าน หรืออาจจะเป็นเครื่องยนต์ไอพ่น Turbofan แบบอื่น
รวมถึงการติดตั้งกล้อง FLIR(Forward Looking Infra-Red) ที่คางใต้หัวเครื่อง และ Radome จมูกหัวเครื่องที่ทางสีขาวซึ่งยังไม่ทราบว่าติดตั้ง Radar ไว้หรือไม่

ตามการแถลงข่าวล่าสุดนั้น Qaher F-313 จะถูกออกแบบมาเป็นเครื่องบินโจมตีเบาสนับสนุนทางอากาศใกล้ชิด(Light Attack/Close Air Support) ไม่ได้เป็นเครื่องบินขับไล่ แต่ก็ยังไม่ทราบว่ามันจะสามารถทำการบินได้จริงหรือไม่
ซึ่งกองทัพอากาศอิหร่านประสบปัญหาในการจัดหาเครื่องบินรบทดแทนเครื่องรุ่นเก่าที่ประจำการมาก่อนการปฏิวัติอิหร่านปี 1979 ที่เป็นผลจากการคว่ำบาตของชาติตะวันตกมาก ทั้ง F-14A Tomcat, F-4E Phantom II, F-5E/F Tiger II ทำให้อิหร่านเลือกแนวทางที่จะพัฒนาอากาศยานเองส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน อาวุธประจำอากาศยาน และระบบตรวจับของอิหร่านนั้นสูงมากพอที่จะส่งออก UAV ไปสนับสนุนรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านให้การสนับสนุนในการรบที่ซีเรียและเยเมนได้ครับ