วันเสาร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2560

เรือหลวงจักรีนฤเบศรกับอากาศยานปีกตรึงทดแทน

Royal Thai Navy's AV-8S Harrier(Matadors) "Jump Jet" and pair of SH-60B Seahawk on flight deck of CVH-911 HTMS Chakri Naruebet helicopter carrier in Stern view at near coast of Thailand, 3 April 2001.(wikipedia.org)

Retired AV-8A(AV-8S) Harrier serial number 3104 of former 1st Squadron, Chakri Naruebet Wing, Naval Air Division on display at Helicopter Carrier Squadron Headquarters, Fleet Command(https://www.facebook.com/H.T.M.S.CHAKRINARUEBET)

การเข้าประจำการของ เรือหลวงจักรีนฤเบศร เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๐(1997) ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำแรกของกองทัพเรือไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทำให้ในยุคนั้น กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ ถือเป็นกองกำลังอากาศนาวีที่มีแสนยานุภาพสูงสุดในภูมิภาคนี้ ด้วยกำลังอากาศประจำหน่วยบิน ร.ล.จักรนฤเบศร ที่มี
ฝูงบิน๑ ประจำการด้วย บ.ขล.๑ก AV-8S Harrier ๗เครื่อง และ บ.ขล.๑ข TAV-8S (รุ่นฝึกสองที่นั่ง) ๒เครื่อง ที่เป็นเครื่องที่เคยประจำการในกองทัพเรือสเปน ซึ่งรับมอบทั้ง ๙เครื่อง เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๙(1996)
กับ ฝูงบิน๒ ประจำการด้วยเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ฮ.ปด.๑ S-70B Seahawk จำนวน ๖เครื่องจากสหรัฐฯ ที่เข้าประจำการสองเครื่องแรก(หมายเลข 3203 และ 3204) ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๐(1997) และสี่เครื่องหลัง(3201, 3202, 3205 และ 3206) ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๐(1997)
รวมถึงเครื่องบินโจมตี บ.จต.๑ A-7E และ TA-7C (รุ่นฝึกสองที่นั่ง) ฝูงบิน๑๐๔ กองบิน๑ จำนวน ๑๘เครื่องที่เดิมเป็นเครื่องที่เคยประจำการในกองทัพเรือสหรัฐฯในปี พ.ศ.๒๕๓๙(1996)

แต่ถึงปัจจุบันที่เวลาผ่านไป ๒๐ปี แสนยานุภาพด้านอากาศนาวีของกองทัพเรือไทยดังกล่าวได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว หลังการปลดประจำการ AV-8S ทั้ง ๙เครื่องในปี พ.ศ.๒๕๔๙(2006)
ด้วยปัญหาการขาดแคลนอะไหล่เนื่องจากเป็นเครื่องรุ่นเก่า(มีพื้นฐานจาก AV-8A) ที่เลิกสายการผลิตไปนานแล้วประกอบกับอายุการใช้งานที่มากไม่เหมาะที่จะทำการบินต่อไป
เช่นเดียวกับ A-7E ที่ปลดประจำการไปในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งทั้ง AV-8S และ A-7E ส่วนหนึ่งทางกองทัพเรือก็ได้อนุรักษ์ไว้เพื่อการจัดแสดง

บทความนี้จะเป็นการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการจัดหาอากาศยานปีกตรึงเพื่อนำมาประจำการบน ร.ล.จักรีนฤเบศร อีกครั้งว่าพอจะมีแนวทางใดบ้าง ในโอกาสที่เรือหลวงจักรีนฤเบศรขึ้นระวางประจำการครบรอบ ๒๐ปี ณ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐ นี้
โดยเมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเจิม เรือหลวงจักรีนฤเบศร ณ ท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อกองทัพเรือ และถือเป็นสิริมงคลต่อกำลังพลประจำเรือเป็นอย่างยิ่ง

ความพยายามเดิมในการจัดหาอากาศยานทดแทน AV-8S ของกองทัพเรือไทย

Royal Navy's Sea Harrier FA.2 on display at the National Maritime Museum in May 2006(wikipedia.org)

ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๔๖(2002-2003) กองทัพเรือไทยมีความสนใจที่จะจัดหาเครื่องบินขับไล่ Sea Harrier FA.2 ของกองทัพเรือสหราชอาณาจักร ที่ต่อมาได้ปลดประจำการลงในปี 2006 
โดย Sea Harrier ของอังกฤษนั้นมีผลงานที่โดดเด่นตั้งแต่รุ่น Sea Harrier FRS.1 ในสงครามหมู่เกาะ Falklands ปี 1982 ที่สามารถยิงเครื่องบินรบอาเจนตินาตกถึง ๒๐เครื่องโดยที่ฝ่ายอังกฤษไม่มีการสูญเสีย Sea Harrier แม้แต่เครื่องเดียวในการรบทางอากาศ 
ซึ่ง Sea Harrier FA.2 นั้นเป็น Harrier รุ่นแรกที่มีขีดความสามารถทางการรบทางอากาศสูงสุดโดยติดตั้ง radar Pulse Doppler แบบ Blue Vixen ที่สามารถใช้อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศระยะยิงนอกสายตา AIM-120 AMRAAM ได้ 

ในช่วงเวลาเดียวกันที่อังกฤษจะปลดประจำการ Sea Harrier FA.2 นั้นกองทัพเรืออินเดียก็เป็นอีกประเทศสนใจจะจัดหามาด้วยเพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่ Sea Harrier FRS.51 ของตน 
แต่ก็มีรายงานว่าอังกฤษจะขายให้ในเงื่อนไขที่จะถอด radar ของตนออกก่อนส่งมอบ ทำให้อินเดียตัดสินใจที่จะปรับปรุงใช้งานเครื่อง Sea Harrier เดิมของตนต่อไปจนปลดประจำการในเดือนมีนาคมปี 2016 
หลังจากที่เครื่องบินขับไล่ MiG-29K และเรือบรรทุกเครื่องบิน INS Vikramaditya(เรือลาดตระเวนหนักบรรทุกเครื่องบินชั้น Kiev ชื่อ Admiral Gorshkov รัสเซียเดิมที่ถูกดัดแปลงใหม่) มีความพร้อมปฏิบัติการ 
โดยทางด้านกองทัพเรือไทยนั้นก็ไม่มีข่าวคืบหน้าในเรื่อง Sea Harrier FA.2  อังกฤษเพิ่มเติมอีกจนเรื่องเงียบหายไป

US Marine Corps's AV-8B Harrier II Plus of VMA-513 Marines Attack Squadron at Wing1 Korat Royal Thai Air Force Base during Cobra Gold 2008 Exercise

อีกความสนใจหนึ่งของกองทัพเรือไทยในช่วงเดียวกันคือเครื่องบินโจมตี AV-8B Harrier II Plus ที่เป็นเครื่องส่วนเกินของนาวิกโยธินสหรัฐฯที่เก็บสำรองไว้ ในช่วงทศวรรษปี 2000s 
แม้สายการผลิต Harrier รุ่นสองได้สิ้นสุดลงเมื่อปี 2003 แต่ทั้งนาวิกโยธินสหรัฐฯที่ใช้ AV-8B กองทัพเรือและกองทัพอากาศอังกฤษที่ใช้ บ.โจมตี Harrier GR.5/7/9/9A นั้นต่างเป็นผู้ใช้งานหลักของเครื่องรุ่นนี้เป็นจำนวนมากซึ่งรับประกันได้ถึงการสนับสนุนด้านอะไหล่และการซ่อมบำรุง 
จึงเป็นแนวคิดที่เหมาะถ้าจะจัดหา Harrier II Plus ซึ่งติดตั้ง radar Pulse Doppler แบบ AN/APG-65 ที่สามารถปรับปรุงชุดคำสั่งให้สามารถยิง AIM-120 ได้เช่นเดียวกับรุ่นส่งออกคือ EAV-8B Matador II กองทัพเรือสเปน และ AV-8B Harrier II Plus กองทัพเรืออิตาลี 
รวมถึงขีดความสามารถในการใช้อาวุธนำวิถีความแม่นยำสูงแบบต่างๆ ทั้งระเบิดนำวิถี Laser ตระกูล Paveway หรืออาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้น AGM-65 Maverick เป็นต้น

อย่างไรก็ตามความสนใจนี้ดูจะจำกัดเฉพาะการศึกษาในการฝึกร่วมระหว่างกองทัพเรือไทยและนาวิกโยธินสหรัฐฯ เช่น Cobra Gold หรือ CARAT ที่มีการนำ AV-8B มาร่วมฝึกในช่วงปีนั้นๆ 
เหตุผลหลักที่กองทัพเรือไทยไม่ได้ดำเนินการใดๆในเรื่องนี้น่าจะเป็นในเรื่องข้อจำกัดด้านงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ทั้งนี้เมื่อกองทัพอากาศสหราชอาณาจักรปลดประจำการ Harrier GR.9A ทั้งหมดของตนลงในปี 2010 โดยขายต่อเพื่อเป็นอะไหล่ให้สหรัฐฯ 
ประเทศที่ยังใช้งาน Harrier II อยู่ทั้งสหรัฐฯและอิตาลี และอาจรวมถึงสเปนนั้นเครื่องก็ถูกยืดระยะเวลาการปลดประจำการออกไปจนกว่า F-35B จะพร้อมเข้าประจำการทดแทนเต็มอัตราคือราวปี 2025 เป็นต้นไป 
ซึ่งจากหลายตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมาการจัดหาเครื่องบินมือสองที่มีอายุใช้งานมานานมากและสายผลิตอะไหล่ใกล้จะปิดตัวลง อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่คุ้มค่าแล้วสำหรับกองทัพเรือไทยในในปัจจุบัน

เครื่องบินขับไล่ F-35B กับ ร.ล.จักรีนฤเบศร

เครื่องบินขับไล่ยุคที่๕ แบบ Lockheed Martin F-35B Lightning II JSF(Joint Strike Fighter) ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่บินขึ้นระยะสั้นลงจอดทางดิ่ง(STOVL: Short Take-Off Vertical-Landing) แบบเดียวที่มีสายการผลิตในปัจจุบันนั้น ได้รับการสั่งจัดหาจากหลายประเทศที่เข้าร่วมโครงการ JSF 

A USMC F-35B conducting the first vertical landing on a flight deck aboard LHD-1 USS Wasp on 3 October 2011(wikipedia.org)

ทั้งนาวิกโยธินสหรัฐฯมีการจัดหาและทำการทดสอบ F-35B ปฏิบัติการจากเรืออู่ยกพลขึ้นบกบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ชั้น Wasp (LHD: Landing Helicopter Dock) และเรือยกพลขึ้นบกบรรทุกเฮลิคอปเตอร์จู่โจมชั้น America (LHA: Landing Helicopter Assault), 
กองทัพอากาศและกองทัพเรือสหราชอาณาจักรได้จัดหา F-35B เพื่อนำไปปฏิบัติการบนเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Queen Elizabeth ทั้ง ๒ลำที่เรือลำแรก HMS Queen Elizabeth จะพร้อมปฏิบัติการในราวปี 2020 
และกองทัพอากาศและกองทัพเรืออิตาลีที่จะจัดหา F-35B ทดแทนเครื่องบินโจมตี AV-8B Harrier II บนเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Cavour ที่ประจำการปัจจุบันและเรืออู่ยกพลขึ้นบกบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ Thaon di Revel(เดิมรู้จักในชื่อเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Trieste) ที่กำลังสร้างในอนาคต 
รวมถึงกองทัพเรือสเปนที่มีความสนใจจะจัดหา F-35B มาทดแทนเครื่องบินโจมตี EAV-8B บนเรือ LHA คือ Juan Carlos I (แต่ยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากสเปนไม่ได้เข้าร่วมโครงการ JSF และติดขัดด้านงบประมาณ) 
และกองทัพเรือตุรกีที่สนใจจัดหา F-35B มาใช้งานกับเรือ LHD คือ TCG Anadolu ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีพื้นฐานจากเรือชั้น Juan Carlos สเปนเช่นเดียวกับเรือ LHD ชั้น Canberra กองทัพเรือออสเตรเลียทั้ง 2ลำ 
(แต่เรือชั้น Canberra ของออสเตรเลียไม่ได้ออกแบบให้รองรับอากาศยานปีกตรึงเช่น F-35 เนื่องจากถูกพิจารณาว่ามีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ที่เรือยังคงมี Ski-Jump ที่หัวเรืออยู่เนื่องจากการแก้แบบเรือให้ตัด Ski-Jump ออกจะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกมากเช่นกัน)

A British F-35B hovering at the Royal International Air Tattoo in 2016(wikipedia.org)

คุณสมบัติของ F-35B ตัวเครื่องมีความยาว 15.4m ปีกกว้าง 10.7m สูง 4.6m น้ำหนักตัวเปล่า 14.7tons น้ำหนักบรรทุกเชื้อเพลิงภายใน 6,045kg บรรทุกอาวุธได้หนัก 6.8tons และมีน้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 27.2tons 
ติดตั้งเครื่องยนต์ไอพ่น Turbofan Pratt & Whitney F135-PW-600 กำลังสูงสุด 40,000lbs พร้อมระบบใบพัดยกตัวแนวดิ่ง Lift Fan Rolls-Royce LiftSystem 
ทำความเร็วได้สูงสุด 1.6 Mach ทนแรง G ได้สูงสุด +7G รัศมีการรบ 450nmi พิสัยการบิน 900nmi เมื่อใช้เชื้อเพลิงภายในตัวเครื่อง


จากการทดสอบการปฏิบัติการบินขึ้นลงบนเรือ LHD-1 USS Wasp ครั้งแรกเมื่อ 2011 ซึ่งเป็นเรือลำแรกของชั้น Wasp ที่เข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 1989 ก่อนที่จะมีโครงการ JSF 
ดังนั้นน่าจะชัดเจนว่าเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ที่ดาดฟ้าบินรองรับปฏิบัติการของ Harrier ได้นั้นสามารถรองรับปฏิบัติการของ F-35B ได้


เช่นเดียวเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีระบบส่งแบบ Ski-Jump ทั้งชั้น Queen Elizabeth ทั้งสองลำของอังกฤษคือ R08 HMS Queen Elizabeth และ R09 HMS Prince of Wales และชั้น Cavour ของอิตาลี 
ซึ่ง F-35B ก็มีการทดสอบการบินขึ้นโดยการใช้ Ski-Jump ที่ฐานบินบนบกครั้งแรกที่สถานีอากาศนาวี Patuxent River กองทัพเรือสหรัฐฯโดยนักบินของ BAE Systems หนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาร่วมของ F-35 เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2015 
และครั้งที่สองเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2017 ซึ่งเป็นการบินขึ้นด้วย Ski-Jump โดยติดอาวุธภายนอกลำตัวเป็นครั้งแรกของ F-35B (http://aagth1.blogspot.com/2017/08/f-35b-ski-jump.html)


อย่างไรก็ตามเนื่องจากกำลังขับไอพ่นเมื่อใช้ LiftFan ของ F-35B นั้นมีความร้อนสูงกว่าไอพ่นของ Harrier มาก 
ดังที่จะเห็นได้จากการทดสอบปฏิบัติงานของ F-35B บนเรือ LHA-6 USS America เมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นเรือที่เพิ่งจะเข้าประจำการเมื่อเดือนตุลาคม 2014 ว่าดาดฟ้าในจุดที่ F-35B ลงจอดและวิ่งขึ้นบนเรือนั้นไหม้ดำเป็นจุดเป็นทางยาวชัดเจน 
จึงเข้าใจว่าถ้ามีการนำ F-35B มาปฏิบัติการบน ร.ล.จักรีนฤเบศร ดาดฟ้าบินของเรือคงต้องมีวงรอบการซ่อมบำรุงกันบ่อยขึ้น

Drawing line of CVH-911 HTMS Chakri Naruebet show number of Aircrafts and Helicopters can be carrier on Hangar and Flight Deck(Royal Thai Navy)

ในประเด็นเรื่องของ Lift ยกอากาศยานขึ้นลงดาดฟ้าบินกับโรงเก็บอากาศยานในตัวเรือของ ร.ล.จักรีนฤเบศรที่มีอยู่สองตำแหน่งคือท้ายเรือกับหน้าดาดฟ้ายกสะพานเดินเรือและหอบังคับการบิน
มีข้อมูลว่า Lift ของ ร.ล.จักรีนฤเบศร นั้นรับน้ำหนักได้สูงสุด 20tons แสดงว่าสามารถยก F-35B ที่เติมเชื้อเพลิงไม่เต็ม100% ได้ แต่การติดตั้งอาวุธหรือเชื้อเพลิงเพิ่มเติมคงต้องทำบนดาดฟ้าบินไม่ใช่ในโรงเก็บในตัวเรือ
ด้านมิติขนาดอากาศยานที่ Lift ของ ร.ล.จักรีนฤเบศรรองรับได้นั้น ถ้าดูจากอากาศยานดั้งเดิมที่ประจำการบนเรือ คือ
AV-8S มีความยาว 14.27m ปีกกว้าง 7.7m ความสูง 3.63m, TAV-8S มีความยาว 16.8m ปีกกว้าง 7.7m ความสูง 4.2m และ S-70B มีความยาว 15.26m(พับหางยาว 12.48m) เส้นผ่าศูนย์กลางใบพัด 16.36m ความสูง 5.18m
จะเห็นว่ามิติขนาดสูงสุดของอากาศยานที่ปฏิบัติการบนเรือได้นั้น มีความยาวสุด 16.8m ความกว้างสูงสุด 7.7m ความสูงสูงสุด 5.18m แต่เนื่องจากยังไม่ทราบขนาดพื้นที่ของลิฟท์ทั้งสองตัวบน ร.ล.จักรีนฤเบศร จึงไม่สามารถบอกได้ว่า F-35B จะขึ้นลงโดย Lift ประจำเรือได้หรือไม่
แต่เฉพาะโรงเก็บอากาศยานในตัวเรือนั้นน่าจะมีขนาดพอบรรจุ F-35B ได้ แต่เนื่องจาก F-35B มีขนาดใหญ่กว่าคงจะเก็บในเรือได้จำนวนจำกัดกว่า AV-8S และ S-70B ได้ที่เรือบรรทุกได้ ๙เครื่อง และ ๖เครื่อง โดยโรงเก็บรองรับอากาศยานได้สูงสุดแบบละ ๑๐เครื่อง
(F-35B น่าจะเข้าโรงเก็บได้ไม่เกิน ๔-๖เครื่องเป็นอย่างมาก พร้อม S-70B ๔เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ฮ.ลล.๕ MH-60S ๒เครื่อง เนื่องจาก ร.ล.จักรีนฤเบศรเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินมีขนาดเล็กที่สุดในโลก)

โดยสรุปนั้น F-35B สามารถขึ้นลงบน ร.ล.จักรีนฤเบศร ได้ แต่มีข้อจำกัดในหลายประการในการใช้งานวางกำลังปฏิบัติการบนเรือ ซึ่งการปรับปรุง Lift นั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ก็ไม่ง่ายนักเนื่องจากเป็นระบบขนาดใหญ่ที่ฝังในตัวเรือมาตั้งแต่แรกสร้าง
ในการปรับปรุงระบบ Lift อากาศยานนั้นคงอาจจะต้องมีการประกวดราคาโครงการจัดหาให้บริษัทต่างประเทศมาประเมินดูก่อนว่าทำได้และคุ้มค่าหรือไม่
(เรือรบที่ถูกผ่าตัวเรือเอาเครื่องยนต์กังหันไอน้ำเก่าออกแล้วติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลเข้าไปแทนก็มีมาแล้วหลายลำ แต่ก็มีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายมากจนอาจจะไม่คุ้มที่จะทำ)


Royal Thai Navy CVH-911 HTMS Chakri Naruebet and Spanish Navy R11 Principe de Asturias(Navantia) 

แต่ปัญหาที่แท้จริงของกองทัพเรือไทยสำหรับการจัดหา F-35B คือราคาเครื่อง ซึ่งราคาในสายการผลิตเต็มอัตราของ F-35B(รวมเครื่องยนต์) ในปีงบประมาณ 2019 นั้นทาง Lockheed Martin ต้องการจะไม่ให้เกินที่ $108.1 million ต่อเครื่อง
ถ้าจะจัดหาเครื่องเปล่าๆไม่รวมรายการย่อยอื่นๆเพียง ๔เครื่องก็จะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า $433 million หรือ ๑๕,๑๕๐ล้านบาท ซึ่งงบประมาณมากขนาดนี้กองทัพเรือไทยคงพิจารณาแล้วว่าถ้ามีก็ควรจะจัดสรรไปให้โครงการอื่นที่สำคัญกว่า
ด้วยเหตุผลโดยรวมทั้งหมดนี้ทำให้การจัดหา F-35B เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในความเป็นจริง โดยเรือบรรทุกเครื่องบิน Principe de Asturias ที่ ร.ล.จักรีนฤเบศรมีแบบแผนเรือย่อส่วนลงมาจากเรือชั้นนี้นั้น กองทัพเรือสเปนก็ได้ปลดประจำการไปเมื่อ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖(2013)
โดยอากาศยานที่ประจำเรือทั้งหมดก็ได้ย้ายไปปฏิบัติการบนเรือ Juan Carlos ที่ทันสมัยกว่า นอกจากอายุการใช้งานตัวเรือแล้วระบบของเรือ Principe de Asturias คงจะไม่รองรับระบบยุคใหม่ในปัจจุบัน ซึ่ง ร.ล.จักรีนฤเบศรเองก็คงอาจจะมีปัญหาในรูปแบบเดียวกันด้วย

เครื่องบินขับไล่ Gripen M กับ ร.ล.จักรีนฤเบศร

Artist's Impression of Royal Thai Navy CVH-911 HTMS Chakri Naruebet after upgraded by SAAB systems cooperation with Royal Thai Air Force Gripen and SAAB 340 ERIEYE AEW&C

โครงการปรับปรุงสมรรถนะของ ร.ล.จักรีนฤเบศรโดยบริษัท Saab สวีเดน ที่ได้มีการปรับปรุงติดตั้ง radar ตรวจการณ์อากาศและพื้นน้ำสามมิติ SEA GIRAFFE AMB แทนเรดาห์ตรวจการณ์อากาศ AN/SPA-52C และ radar ตรวจการณ์พื้นน้ำ RASCA 
พร้อมปรับปรุงระบบอำนวยการรบใหม่แบบ 9VL ทำให้ ร.ล.จักรีนฤเบศรมีขีดความสามารถในการเป็นเรือบัญชาการที่เชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายทางยุทธวิธี (Tactical Data Link) ร่วมกับเรือฟริเกตชุด ร.ล.นเรศวร ที่ปรับปรุงแล้วทั้ง 2ลำ, เรือฟริเกตสมรรถนะสูงชุด ร.ล.ท่าจีน (ลำที่๓) ใหม่ 
และระบบป้องกันภัยทางอากาศบูรณาการของกองทัพอากาศไทยที่ประกอบด้วยเครื่องบินขับไล่ บ.ข.๒๐/ก Gripen C/D และเครื่องบินแจ้งเตือนและควบคุมทางอากาศ บ.ค.๑ SAAB 340 AEW&C โดยมีการทดสอบการปฏิบัติการร่วมกันครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗(2014)

การปรับปรุงบูรณาการระบบของ ร.ล.จักรีนฤเบศรนั้นทำให้มีประเด็นขึ้นมาว่า แนวคิดเครื่องบินขับไล่ Gripen Maritime หรือเดิมที่รู้จักกันในชื่อ Sea Gripen ที่ Saab ได้เสนอเป็นตัวเลือกเครื่องบินขับไล่ประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน 
โดยในการประชาสัมพันธ์ของ Saab นั้นมุ่งไปที่กองทัพเรือบราซิลที่สวีเดนประสบความสำเร็จในการส่งออกเครื่องบินขับไล่ Gripen E/F ให้กองทัพอากาศบราซิลแล้ว 
และกองทัพเรืออินเดียเพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่ Tejas รุ่นใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบินที่ล่าช้ามีคุณสมบัติไม่ตรงความต้องการจนถูกยกเลิกไปเมื่อเดือนธันวาคม 2016 
ที่น่าตกใจคือเอกสารนำเสนอของ Saab ระบุว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินใช้งานโดยมีการนำภาพ ร.ล.จักรีนฤเบศร มาประกอบในเอกสารที่แสดงว่า Saab มองว่ากองทัพเรือไทยอาจจะเป็นหนึ่งในลูกค้าที่เป็นไปได้สำหรับ Gripen M ด้วย 


Gripen M พัฒนามาจาก Gripen E ซึ่งใช้ส่วนประกอบร่วมกัน 95% โดยปรับปรุงในส่วนฐานล้อระบบห้ามล้อ และตะขอเกี่ยวท้ายเครื่องให้เหมาะสมกับการปฏิบัติการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน 
คุณสมบัติพื้นฐานมีความยาว 15.2m กว้าง 8.6m ติดตั้งเครื่องยนต์ไอพ่น Turbofan General Electric F414G กำลังขับสูงสุด 22,000lbs ทำความเร็วได้สูงสุด 1.8 Mach เพดานบินสูงสุด 50,000ft. ทนแรง G ได้ต่ำสุด -3G สูงสุด +7G 
มีตำบลติดอาวุธ ๑๐จุด รองรับอาวุธที่ทันสมัยได้หลายแบบ เช่น อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยไกล Meteor และอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่พื้นต่อต้านเรือผิวน้ำ RBS15

แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องกล่าวว่าการนำเครื่องบินขับไล่ Gripen M มาปฏิบัติการบน ร.ล.จักรีนฤเบศรนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง 
เนื่องจาก Gripen M ไม่มีขีดความสามารถในการบินขึ้นลงทางดิ่งได้ ขณะที่ ร.ล.จักรีนฤเบศร เป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ซึ่งอากาศยานที่จะใช้ปฏิบัติการบนเรือต้องเป็นอากาศยานขึ้นลงทางดิ่งคือ ฮ. หรือ บ.STOVL เท่านั้น 

แนวทางการดัดแปลง ร.ล.จักรีนฤเบศรให้เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่รองรับการปฏิบัติการ Gripen M ก็ดูจะป็นไปไม่ได้เช่นกัน 
เพราะทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินแบบ STOBAR (Short Take-Off But Arrested Recovery) ที่ส่งอากาศยานบินขึ้นด้วย Ski-Jump และรับอากาศยานลงจอดด้วยการใช้ตะขอเกี่ยวลวดบนดาดฟ้าบิน 
หรือเรือบรรทุกเครื่องบินแบบ CATOBAR (Catapult Assisted Take-Off But Arrested Recovery) ที่ส่งอากาศยานบินขึ้นด้วยรางดีด และรับลงจอดด้วยตะขอเกี่ยวลวดนั้น 
เรือทั้งสองระบบนี้มีพื้นที่ใต้ดาดฟ้าที่ซับซ้อน ทั้งระบบแผ่นยกกำบังไอพ่นท้ายจากอากาศยานขณะบินขึ้น  ระบบลวดเกี่ยวที่ต้องมีกว้านใต้ผิวดาดฟ้าบินในการม้วนลวดกลับหลังที่อากาศยานลงจอด 

รวมถึงการต่อเติมดาดฟ้าบินเสริมเป็นทางวิ่งมุมเฉียงทางกราบซ้ายอย่างเรือบรรทุกเครื่องบินยุคหลังสงครามโลกครั้งที่๒ ซึ่งทางวิ่งของอากาศยานที่ลงจอดจะไม่ได้อยู่ในแนวเดียวกับอากาศยานที่จะบินขึ้น ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุและมีความสะดวกในการปฏิบัติงานการบิน 
การดัดแปลงใต้ดาดฟ้ายกและต่อเติมตัวเรือจากเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ให้กลายเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินตามแบบนั้นไม่เคยมีการทำมาก่อนและก็ไม่น่าจะทำได้ด้วย อีกทั้งการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินใหม่เลยนั้น ถึงจะใช้งบประมาณมากแต่ก็ดูคุ้มค่ากว่ามากในระยะยาว 
หรือถ้าจะไม่ดัดแปลงตัวเรือเลยโดยให้บินขึ้นลงแบบเรือบรรทุกเครื่องบินสมัยสงครามโลก โดยในส่วนลวดเกี่ยวบนดาดฟ้าบินก็นำระบบสายเกี่ยวหยุดอากาศยานอัตตาจร (Mobile Arrestor Gear) แบบที่ใช้ในการลงจอดทางวิ่งระยะสั้นมาก เช่นในการฝึกบินขึ้นลงบนถนนหลวงนั้นก็คงจะทำไม่ได้ 

เนื่องจากระบบนี้ต้องมีการติดตั้งยึดตัวเองกับพื้นดินอย่างแข็งแรง ไม่ใช่บนดาดฟ้าเรือที่มีพื้นที่จำกัดและทำการเจาะพื้นถาวรไม่ได้ การลงจอดของ Gripen M บนดาดฟ้าบินของ ร.ล.จักรีนฤเบศร จึงไม่น่าจะทำได้จริง 
(เว้นแต่ Gripen M จะมีระบบลงจอดมหัศจรรย์หยุดเครื่องได้ทันทีที่ล้อแตะดาดฟ้าบินจากความเร็วน้อยกว่า 120knots เป็น 0knots ในระยะทางไม่เกิน 75m จากจุดลงจอดที่๔ ไปจุดลงจอดที่๓ จากท้ายเรือมาหน้าเรือได้)

concept Impression of Artist show SAAB Gripen M operated from Brazilian Navy's Aircraft Carrier A12 Sao Paulo(saab.com)

ข้อเสียเปรียบสำคัญของ Saab ในการทำการตลาด Gripen M คือการที่กองทัพเรือสวีเดนเองไม่เคยมีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการทั้งในอดีตและปัจจุบัน 
โดยลูกค้าหลักที่เป็นไปได้ตอนนี้เหลือเพียงกองทัพเรืออินเดียที่จะนำมาใช้ปฏิบัติการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน Vikramaditya และ Vikrant ลำใหม่ที่อยู่ระหว่างการสร้างเองในประเทศ ตามโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ประจำเรือบรรทุกเครื่องบินใหม่ของกองทัพเรืออินเดีย 
ซึ่งทาง Saab ก็หวังที่จะให้ Gripen E/F เป็นผู้ชนะในโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์เดียวใหม่ของกองทัพอากาศอินเดียจำนวน ๒๐๐เครื่อง โดย Saab ได้เสนอการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้อินเดียผลิต Gripen ในประเทศตามนโยบาย Made in India ด้วย
ทางด้านกองทัพเรือบราซิลได้ประกาศแผนที่จะปลดประจำการเรือบรรทุกเครื่องบิน Sao Paulo ซึ่งซื้อต่อจากฝรั่งเศสในปี 2000 และมีอายุการใช้งานนานถึง ๕๔ปีในอนาคตอันใกล้(http://aagth1.blogspot.com/2017/02/sao-paulo.html
โดยลำดับความสำคัญของกองทัพเรือบราซิลในโครงการจัดหาเรือบรรทุกเครื่องบินใหม่ระวางขับน้ำ 50,000tons ที่จะสร้างในประเทศนั้นอยู่ในอันดับที่สาม รองจากอันดับหนึ่งโครงการจัดหาเรือดำน้ำทั้งเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า Scorpene ๔ลำ 
และเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ที่จะสร้างภายในประเทศร่วมกับ DCNS ฝรั่งเศส และอันดับสองในโครงการจัดหาเรือคอร์เวตชั้น Tamandare ที่สร้างเองในประเทศ ทำให้บราซิลจะยังไม่ใช่ลูกค้าของ Gripen M ในเร็วๆนี้

บทสรุป


Royal Thai Navy CVH-911 HTMS Chakri Naruebet during execise 2017

นาวิกานุภาพของกองทัพเรือที่สมบูรณ์นั้นต้องกอปรไปด้วยกำลังรบทั้งสามมิติคือ ผิวน้ำ ใต้น้ำ และอากาศ เฉพาะกองการบินทหารเรือนั้นปัจจุบันยังมีโครงการจัดหาอากาศยานทดแทนที่จำเป็นอีกหลายรายการ
ทั้งเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง และเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือฟริเกต ทดแทนในส่วนของเก่าที่ปลดประจำการไปแล้วหรือใกล้จะหมดอายุการใช้งาน 
นั่นทำให้การจัดหาเครื่องบินขับไล่ไอพ่นที่มีราคาแพงจะย่อมถูกตัดออกไปก่อน โดยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติการร่วมกับกองทัพอากาศในการสนับสนุนกำลังทางอากาศต่อกองเรือมากกว่า 
แต่การมีขีดความสามารถในการใช้อากาศยานรบจากเรือบรรทุกเครื่องบินในการรุกได้นั้นย่อมจะดีกว่าถ้าไทยเราต้องจำเป็นต้องใช้หมู่เรือเฉพาะกิจที่มี ร.ล.จักรีนฤเบศร เป็นเรือธงออกปฏิบัติการจริง 
ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกต่างพยายามที่จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินในครอบครอง ก็ได้แต่หวังว่าในอนาคตช่วงที่ ร.ล.จักรีนฤเบศร จะยังคงประจำการต่ออีกหลายสิบปีข้างหน้า กองทัพเรือไทยจะสามารถกลับเข้ายุคสมัยของเรือบรรทุกเครื่องบินได้อีกครั้งครับ