วันอังคารที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ตุรกีอาจจะยกเลิกสัญญาจัดหา S-400 ถ้ารัสเซียปฏิเสธแนวคิดการผลิตร่วม

Turkey says it may annul S-400 contract if Russia rejects idea of joint production
The Turkish foreign minister said that if some anti-Russia-minded countries do not want Turkey to purchase S-400 from it, then they must provide their alternative
Vitaliy Nevar/TASS
http://tass.com/defense/969633

รัฐบาลตุรกีอาจจะต้องล้มเลิกความตั้งใจที่จะจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศพิสัยไกล S-400 จากรัสเซีย ถ้าข้อตกลงการผลิตร่วมในตุรกีไม่ได้รับการบรรลุผล
ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศตุรกี นาย Mevlut Cavusoglu กล่าวในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Aksam ตุรกี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม

"เราได้ทราบว่าไม่มีการปฏิเสธอย่างเป็นทางการในเรื่องนั้น (ประธานาธิบดีรัสเซีย) Vladimir Putin เคยบอกเราว่าเราอาจจะนำสู่ก้าวต่อไปสำหรับการผลิตร่วม องค์ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ถ้าทัศนะคติของรัสเซียเป็นไปในเชิงลบ เราอาจจะต้องหันไปเปิดข้อตกลงกับประเทศอื่น
เราจำเป็นต้องจัดซื้อพวกมัน(S-400) แต่ถ้าบางประเทศที่มีแนวคิดต่อต้านรัสเซียไม่ต้องการให้ตุรกีจัดซื้อ S-400 จากรัสเซีย ดังนั้นพวกเขาก็ต้องเสนอที่จะส่งมอบระบบทางเลือกของพวกเขาให้เรา" รัฐมนตรี Cavusoglu กล่าว

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 12 กันยายน ประธานาธิบดีตุรกี Recep Tayyip Erdogan ว่ารัฐบาลตุรกีได้ลงนามสัญญาจัดหากับรัฐบาลรัสเซียในการจัดซื้อระบบป้องกันทางอากาศ S-400 และมีการวางวงเงินมัดจำแล้ว
ผู้ช่วยประธานธิบดีรัสเซียด้านเทคนิคทางทหาร Vladimir Kozhin ยืนยันเรื่องนี้ในเดือนกันยายน โดยเสริมว่าการส่งมอบองค์ความรู้ด้านการผลิตให้ตุรกีไม่ได้อยู่ในวาระการประชุม

ทั้งนี้ในอดีตเมื่อเดือนกันยายนปี 2013 ตุรกีได้เลือกที่จะจัดหาระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศพิสัยไกล FD-2000 จาก China Precision Machinery Export-Import Corp(CPMEIC) สาธารณรัฐประชาชนจีน
ซึ่งเป็นรุ่นส่งออกของอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศพิสัยไกล HQ-9(มีพื้นฐานจาก S-300 รัสเซีย) ที่ประจำการในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน พร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตในตุรกีจากจีน

แต่จากการที่ NATO กังวลว่าการจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศจากจีนของตุรกี จะทำให้จีนสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญของระบบป้องกันภัยทางอากาศ NATO ได้ ทำให้ตุรกีต้องกลับมาพิจารณาถึงตัวเลือกระบบของประเทศกลุ่ม NATO
คือ Patriot จากบริษัท Raytheon กับ Lockheed Martin สหรัฐฯ และ Eurosam SAMP/T จาก MBDA/Thales Group ยุโรป จนต่อมาตุรกีแสดงความสนใจที่จะจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศพิสัยไกล S-400 จากบริษัท Almaz-Antey รัสเซีย

นอกจากกองทัพรัสเซียที่เป็นผู้ใช้งานหลักของระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 รัสเซียยังได้ส่งออก S-400 ให้เบลารุส ซึ่งมีการส่งมอบแล้ว, จีนและอินเดียซึ่งมีการลงนามสัญญาจัดหาไปเมื่อช่วงปี 2015 และ 2016 ตามลำดับ
ล่าสุดซาอุดิอาระเบียและรัสเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจในการจัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ซึ่งรวมการสร้างในซาอุดิอาระเบียตามที่ได้รายงานไปด้วยครับ(http://aagth1.blogspot.com/2017/10/thaad-s-400.html)