วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

จีนจะพัฒนาเครื่องบินขับไล่ J-20 เป็นระบบอากาศยานรบพหุบทบาท

Chengdu J-20 to become multi-role platform
Beijing will evolve the Chengdu J-20 fighter into roles well beyond aerial supremacy.
https://www.flightglobal.com/news/articles/chengdu-j-20-to-become-multi-role-platform-446703/

จีนจะพัฒนาเครื่องบินขับไล่ยุคที่5 แบบ Chengdu J-20 เป็นเครื่องบินขับไล่พหุบทบาทหลากหลายรูปแบบนอกเหนือจากบทบาทการเป็นเครื่องบินขับไล่ครองอากาศ ตามที่ภารกิจแรกเริ่มของ J-20 ที่ออกแบบแต่ต้นไว้คือ "การกรุยเส้นทางให้อากาศยานแบบอื่นในการรบทางอากาศ"
Zhang Hao หัวหน้าศูนย์ทดสอบการบินกองทัพอากาศปลดปล่อยประชาชนจีน(PLAAF: Peoples Liberation Army Air Force) กล่าวในบทความของหนังสือพิมพ์รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน China Daily

เครื่องบินขับไล่ J-20 จะถูกพัฒนาในอีกหลายรุ่นและยังรวมถึงการเปิดเข้าสู่การวิจัยเพื่อพัฒนา "เครื่องบินขับไล่ยุคที่6" Yang Wei รองผู้อำนวยการแผนกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ AVIC(Aviation Industry Corporation of China) รัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมอากาศยานจีนกล่าว
"เราไม่พึ่งพอใจกับสิ่งที่เราทำสำเร็จไปแล้ว เราจะพัฒนา J-20 ไปสู่ระบบเครื่องบินรบตระกูลใหญ่ และคงความแข็งแกร่งด้านขีดความสามารถการประมวลผลข้อมูลและข่าวกรองของมัน" Yang กล่าว

"ในเวลาเดียวกันเราจะคิดเกี่ยวกับอากาศยานรบยุคหน้าของเราที่ตรงกับความต้องการของชาติเราในอนาคต J-20 เป็นเครื่องบินขับไล่ที่ดีที่สุดในจีน ดังนั้นมันควรจะถูกนำมาใช้ในช่วงเวลาวิกฤติที่สุดระหว่างสงคราม" Yang เสริม
บทความยาว 418คำได้เปิดเผยเรื่องราวที่น่าประหลาดใจอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับ J-20 ซึ่งถูกปกคลุมไปด้วยความลับนับตั้งแต่ที่มีภาพปรากฎครั้งแรกในสื่อสังคม Online ช่วงปี 2010

เครื่องบินขับไล่ J-20 ทำการบินครั้งแรกในปี 2011 และเปิดเผยตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกในงานแสดงการบินนานาชาติ Zhuhai Air Show 2016 ซึ่ง J-20 สองเครื่องได้ทำบินผ่านผู้ชมระหว่างพิธีเปิดงาน(http://aagth1.blogspot.com/2016/11/j-20-norinco-vt5.html)
แต่ทางเจ้าหน้าที่ AVIC ได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเครื่องซึ่งสร้างคำถามขึ้นมากกว่าคำตอบในขณะนั้น(http://aagth1.blogspot.com/2016/11/j-20.html) อย่างไรก็ตามมีการกล่าวว่า J-20 ได้ถูกยกเลิกชั้นความลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ที่เป็นเวลาจัดงานแสดงแล้ว

ณ ขณะนี้ มีเรื่องราวที่ถูกแยกเป็นสองส่วนจากสำนักข่าวของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน Xinhua ที่ป่าวประกาศว่าเครื่องบินขับไล่ J-20 นั้นได้เข้าประจำการในกองทัพอากาศปลดปล่อยประชาชนจีนแล้ว แต่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดที่น้อยมาก
นอกจากแผนที่จะพัฒนา J-20 ในหลายรุ่นแล้ว มีการเปิดเผยว่ากองทัพอากาศปลดปล่อยประชาชนจีนจะไม่อนุญาตให้มีการส่งออกเครื่องบินขับไล่ J-20 แก่ต่างประเทศ

อีกทั้งยังมีการเปิดเผยอีกว่าเครื่องบินขับไล่ J-20 ได้ทำการทดสอบการยิงโจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศระยะยิงนอกสายตา(BVR: Beyond-Visual-Range) แล้ว
ยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะมีการผลิตเครื่องบินขับไล่ J-20 กี่เครื่อง หรือจะนำเข้าประจำการในกองทัพกี่เครื่อง หรือแม้แต่จะมี J-20 ในรุ่นภารกิจเฉพาะทางต่างๆกี่แบบที่จะถูกพัฒนาขึ้น

ผู้สังเกตการณ์ให้ข้อสังเกตว่าภารกิจหลักของ J-20 ในการเป็นเครื่องบินขับไล่ครองอากาศนั้นจะไม่เพียงแต่เฉพาะการต่อสู้กับเครื่องบินขับไล่ข้าศึกเท่านั้น
แต่จะรวมถึงการโจมตีอากาศยานสนับสนุนที่มีความสำคัญของข้าศึก เช่น เครื่องบินเติมเชื้อเพลิงทางอากาศ(Tanker) และเครื่องแจ้งเตือนและควบคุมทางอากาศ(AEW&C: Airborne Early Warning & Control) ด้วย

สำหรับการทำลายอากาศยานสนับสนุนของข้าศึกในระยะไกลที่ถูกคุ้มกันอย่างแน่นหนา จีนได้กำลังพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศ PL-21 ที่นำวิถีแบบ Active-Radar ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ Ramjet
เชื่อว่าสมรรถนะน่าจะเทียบเคียงได้กับอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยไกล MBDA Meteor ที่สามารถติดตั้งได้กับเครื่องบินขับไล่ SAAB Gripen สวีเดน, Dassault Rafale ฝรั่งเศส และ Eurofighter Typhoon สหราชอาณาจักร โดยมีแผนจะติดตั้งกับ F-35

แนวทางรูปแบบภารกิจที่เป็นไปได้ของ J-20 ที่อ้างอิงจากเครื่องบินขับไล่ยุคที่5 ของสหรัฐฯคือ Lockheed Martin F-35 Lightning II นอกจากภารกิจอากาศสู่อากาศแล้วยังสามารถทำภารกิจโจมตีภาคพื้นดิน, โจมตีทาง Electronic และการรวบรวมข่าวกรอง, ตรวจการณ์ และลาดตระเวน(ISR: Intelligence, Surveillance and Reconnaissance)
เครื่องบินขับไล่ยุคที่5 อีกแบบคือ Lockheed Martin F-22 Raptor กองทัพอากาศสหรัฐฯ(USAF: US Air Force) ดั้งเดิมก็ถูกออกแบบมาเป็นเครื่องบินขับไล่ในภารกิจอากาศสู่อากาศ แต่ได้มีการพัฒนาให้สามารถทำภารกิจติดระเบิดนำวิถีโจมตีภาคพื้นดิน และโจมตีทาง Electronic ได้

รายงานของสื่อจีนอ้างว่า J-20 เป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่5 แบบที่สามของโลกที่ได้เข้าประจำการจริงตามหลังเครื่องบินขับไล่ F-22 Raptor และเครื่องบินขับไล่ F-35 Lightning II ของสหรัฐฯ(http://aagth1.blogspot.com/2017/03/j-20.html)
ขณะที่เครื่องบินขับไล่ Sukhoi Su-57(PAK FA T-50) รัสเซียที่ทำการบินครั้งแรกในปี 2010 คาดว่าจะเสร็จสิ้นการทดสอบและเริ่มส่งมอบเครื่องให้กองทัพอากาศรัสเซีย(VKS: Russian Aerospace Force) ประจำการได้ในปี 2019(http://aagth1.blogspot.com/2018/03/su-57-su-35.html)

เพิ่มเติมจากนี้ยังมีข้อมูลว่าเครื่องบินขับไล่ยุคที่5 แบบ Shenyang FC-31(J-31) ซึ่งอยู่ในเครือ AVIC จีนเช่นกันได้ถูกตั้งเป้าสำหรับการส่งออกแก่ต่างประเทศ แต่ไม่มีการให้รายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับการพัฒนาออกมา
แม้ว่าจะมีการปรากฎภาพเครื่องบินขับไล่ FC-31 เครื่องต้นแบบเครื่องที่สองที่มีรูปแบบเครื่องแตกต่างจากเครื่องต้นแบบเครื่องแรกที่สร้างมาก่อนหน้าแล้วก็ตาม(http://aagth1.blogspot.com/2016/12/fc-31.html)

"ในอดีตเราต้องเดินตามเส้นทางของผู้อื่นเมื่อถึงเวลาที่ต้องออกแบบอากาศยานทางทหารเพราะว่าขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาของเราดั้งเดิมในเรื่องนี้มีข้อจำกัด
แต่ตอนนี้เราได้กลายเป็นผู้ที่มีขีดความสามารถในการออกแบบและสร้างอากาศยานทางทหารแบบอะไรก็ตามที่เราต้องการจะมีแล้ว" Yang กล่าวครับ